จากกรณีที่นักลงทุนบิตคอยน์จำนวนหนึ่งเกิดความเสียหายจากการลงทุนกับ บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Zipmex ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อ – ขายเหรียญดิจิทัลยอดนิยมของไทย โดยบริษัทประสบปัญหาจากตลาดเหรียญดิจิทัลผันผวน และขาดสภาพคล่องตัวทางการเงินนั้น
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวกันเข้าพบ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ ก.ล.ต.แก้ปัญหา โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสรุปร่วมกันว่าให้มีการตั้งคณะทำงานระหว่างตัวแทนของผู้เสียหายกับ ก.ล.ต. ด้วย ผู้เสียหายเสนอให้ การตั้งคณะทำงานวอร์รูมโดยรวมเอาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย และเสนอให้มีตัวแทนจากภาคเอกชนเพื่อตรวจสอบเรื่องบล็อกเชน (ระบบข้อมูลที่เชื่อมร้อยกัน) ทั้งนี้ เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความเสียหายดังกล่าว ก.ล.ต. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และได้ติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้น ก.ล.ต.แจ้งให้บริษัทสื่อสารกับผู้ลงทุนที่เข้าข่ายเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิภายในระยะเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกัน ก็เปิดรับข้อมูล พร้อมทั้งเรื่องร้องเรียนของผู้เสียหาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ออกหนังสือถึงบริษัทให้เปิดเผยข้อมูลมูลค่าสินทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 แต่ได้รับกลับมาเฉพาะข้อมูลตัวเลขที่เป็นส่วนของกลุ่มความเสียหายเท่านั้น
รื่นวดี ระบุอีกว่า ในความเห็นของ ก.ล.ต. บริษัทอาจทำผิดระเบียบ Trading rules หรือหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อ – ขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะใน Trading rules ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. นั้น กำหนดว่าต้องเปิดให้นักลงทุนสามารถแลกเปลี่ยน (Exchange) สินทรัพย์ดิจิทัลได้ตลอดเวลา (ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง) แต่บริษัท Zipmex กลับปิดดำเนินการให้ฝาก-ถอนเหรียญดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2565
นอกจากนี้ บริษัท Zipmex อาจจะเข้าข่ายการเสนอและประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งถือเป็นความผิด เนื่องจากประกาศของ ก.ล.ต. กำหนดไว้ว่า ห้ามประกอบธุรกิจอื่นที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทรัพย์ของลูกค้า ก.ล.ต. จึงเตรียมออกหนังสือถึงบริษัทให้เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับ 2 กรณีดังกล่าว และจะออกหนังสืออีกรอบหนึ่ง เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ
“สำหรับขั้นตอนการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ที่ ก.ล.ต. มีขั้นตอนและกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งนอกจากขั้นตอนการเพิกถอนแล้ว ก.ล.ต. ยังมีกรอบกฎเกณฑ์กติกาชัดเจน ด้านการประกอบธุรกิจอื่นจะต้องไม่ทำให้ทรัพย์สินของลูกค้าเกิดความเสียหาย และการนำเอาทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผลกรณีอย่างนี้ไม่สามารถทำได้เช่นกัน” เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลการลงทุนของบริษัท Zipmex ที่สิงคโปร์ โดย ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท Zipmex ในประเทศไทยให้ข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ด้านกฎหมายระหว่างทั้ง 2 บริษัท และประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์อย่างไม่เป็นทางการ โดยต้องรอฟังคำตอบอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในสิงคโปร์ไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นความลับทางธุรกิจ (Security Business)
รื่นฤดี ระบุว่า สิ่งที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญ คือ 1. การดูแลผู้ลงทุน และ 2. การบังคับใช้กฎหมายตามหน้าที่ ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต. ทำตามอำนาจหน้าที่ที่มี นั่นคือการส่งหนังสือเรียกบริษัท และจะวิเคราะห์ดำเนินการไปตามกระบวนการ หากพบว่าการกระทำของบริษัทฯ เข้าข่ายความผิดตามกฎกติกา ก.ล.ต. ก็จะมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งถึงบริษัท ให้ชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด และนำมาพิจารณาเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ก.ล.ต. ต้องพูดคุยและขอข้อมูลรายละเอียดจากตัวแทนผู้เสียหาย เพื่อนำมาจัดกลุ่มและแบ่งประเภทผู้เสียหายต่อไป