สภาเศรษฐกิจโลก เสนอให้มีกติกากำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) พร้อมหารือมาตรการเฝ้าระวังการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มเปราะบาง จากภัยไซเบอร์
เมื่อวันที่ 15 – 18 มกราคม 2567 ที่ผ่านมามีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ประจำปี 2567 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยมีการรวมตัวของประมุขและผู้นำรัฐบาล หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ ผู้บริหารภาคธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค ตลอดจนผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับโลก กว่า 2,500 คน
การประชุมปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ฟื้นฟูความเชื่อมั่น” โดยประเด็นด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหนึ่งในประเด็นที่สหพันธ์องค์กรของผู้บริโภค (Consumers International) ให้ความสนใจและได้หารือเพื่อติดตาม เฝ้าระวังปัญหาในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ หากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังมีการหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบในการกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต เนื่องจากมีความคิดเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีกฎเกณฑ์เข้ามากำกับดูแลในอนาคต บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ข้างต้น ทั้งนี้ ในการประชุมกลุ่มย่อยได้มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ : AI)
“เมื่อทุกคนเริ่มใช้งานบนโลกออนไลน์ ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอยู่ตลอดเวลา” มัวริส เลวี่ (Maurice Lévy) ประธานกรรมการบริหารจากบริษัท พับบลิซิส กรุ๊ป (Publicis Groupe) บริษัทโฆษณาและประชาสัมพันธ์ กล่าวในห้องประชุมย่อยจึงเสนอว่า แม้ทุกคนจะมีเสรีภาพในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ แต่ควรมีขอบเขตของการสื่อสารที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย
เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองจากการใช้เทคโนโลยี จูลี่ อินแมน กรานด์ (Julie Inman Grant) จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี ประเทศออสเตรเลีย (Australia Safety Commissioner) ระบุว่า ประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญในการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีการใช้หลักการสามพี (3P Model) ที่ประกอบด้วยการป้องกัน การให้การศึกษา และการวิจัย โดยที่หน่วยงานมีการรับเรื่องร้องเรียนและมีอำนาจสั่งการให้บริษัทหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ อาทิ อินสตาแกรม (Instagram) สแนป (Snap) หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้หยุดเผยแพร่สิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อลดผลกระทบทางด้านจิตใจ
ด้าน เมเรดิท ไวท์เทคเกอร์ (Meredith Whittaker) ประธานมูลนิธิซิลเนล (Signal) ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการสื่อสาร มีความเห็นว่า ควรมีมาตรการป้องกันเรื่องการสืบค้นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำข้อความสนทนาของแม่ลูกคู่หนึ่งที่พูดถึงประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อรัฐ ทำให้แม่ลูกคู่นั้นถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรไม่กระทำ เพราะเป็นการละเมิดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
ขณะที่ เฮเลน โลเรนท์ (Helena Leurent) ผู้อำนวยการทั่วไปจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Director General of Consumers International) กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งจากภัยไซเบอร์และปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ คือ การต้องมีกติกาที่จำเป็นและการรวมกลุ่มขององค์กรด้านผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเจรจาต่อรองให้เกิดประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน
จากการประชุมกลุ่มย่อยได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ การผลักดันให้เกิดมาตรการหรือกฎระเบียบร่วมกันเพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์เริ่มมีความรุนแรงและขยายวงกว้าง อีกทั้งอาชญากรอาจใช้กลวิธีในการเข้าถึงเป้าห มายที่เป็นกลุ่มเปราะบางมากขึ้นเพื่อหลอกเอาข้อมูลและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับผู้บริโภค เศรษฐกิจและสังคม