โฆษณาค่ายการศึกษาอ้างมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 คณะแนะแนว 100 วิชาชีพ เข้าค่ายจริงโหรงเหรงไม่ตรงปก ซ้ำเอารูปไปโฆษณาโดยเด็กไม่เต็มใจยินยอม
ผู้ปกครองนักเรียนกว่าร้อยคน เข้าร้องสภาผู้บริโภค เรียกร้องค่ายแนะแนว ชดเชยเยียวยาความเสียหาย หลังเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว จัดงานไม่ตรงปก ปั้นพอร์ตหลอกลวง ทั้งที่เด็กไม่ได้ร่วมกิจกรรมจริง พร้อมวางแผนจัดกิจกรรมทั่วประเทศ หวั่นละเมิดกม.PDPA เด็กไม่ได้ยินยอม เอารูปไปโฆษณาในเพจ ด้านเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคฯ ยันทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม นัดเชิญบริษัทเข้ามาเจรจาหาทางออกร่วมกัน
จากกรณีมีตัวแทนผู้ปกครองรวมตัวกันกว่า 100 คน เข้าร้องเรียนสภาองค์กรของผู้บริโภค กรณีลงทะเบียนซื้อคอร์สแนะแนว VVIP ราคา 1,290 บาท vip 990 บาท และ standard 590 บาท จากบริษัทวิสดอม วี กรุ๊ป สิริ เซ็นเตอร์ จำกัด (Wisdom V Academy) เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมภาย ในงาน Thailand Education Expro 2024 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยบริษัทฯ โฆษณาว่า เมื่อลงทะเบียนซื้อคอร์สแล้วจะได้รับสิทธิ โซนกิจกรรมแยกพิเศษ มีพี่เลี้ยง มีเวิร์กชอปแยกเดี่ยวกับรุ่นพี่ และได้คู่มือกิจกรรม ปรึกษาวางแผนการเรียน ทำพอร์ต 30 พอร์ต แบบรายบุคคล และได้รับชุดหนังสือ คลังข้อมูลสอบตรง และเฉลยแบบละเอียด แต่เมื่อพาบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรม กลับไม่ได้รับสิทธิตามที่โฆษณาไว้ โดยมีเด็กนักเรียนกว่า 700 คนได้รับความเสียหายมูลค่ารวมเบื้องต้นมากกว่า 6 แสนบาทนั้น
วันนี้ ( 3 สิงหาคม 2567 ) สภาผู้บริโภค นำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้ปกครองเด็ก ร่วมแถลงข่าว ประเด็น ร้องสภาผู้บริโภคค่ายแนะแนวขายฝัน จัดงานไม่ตรงปก นักเรียนเสียหายกว่า 700 คน ณ สำนักงานสภาผู้บริโภค
สารี กล่าวว่า สภาผู้บริโภค ไม่อยากให้สังคมมองประเด็นนี้ เป็นเรื่องเล็กน้อย ดูที่มูลค่าความเสียหายเป็นรายคนแค่หลักพันกว่าบาท การรวมตัวของผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาที่ได้รับความเสียหายจากการลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม เชื่อว่า มีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านบาทแล้ว ซึ่งหลังรับเรื่องร้องเรียน เบื้องต้นสภาผู้บริโภคได้เชิญบริษัทเข้ามาเจรจาหารือร่วมกันกับผู้เสียหายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หวังว่าบริษัทจะชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค สภาผู้บริโภคในฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภคตามกฎหมาย หากไม่มีการเยียวยาจะดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคต่อไป
เลขาธิการฯ ยืนยันว่า สภาผู้บริโภค มีความประสงค์ให้บริษัทดำเนินการจัดกิจกรรมให้ตรงปก หากไม่สามารถทำได้ขอให้ชะลอการจัดกิจกรรมดังกล่าวในอนาคตก่อน รวมถึงขอให้หน่วยงานที่ถูกพาดพิงตรวจสอบการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานราชการที่ถูกเชิญไปออกงานค่ายแนะแนวขอให้พิจารณาความน่าเชื่อถือของค่ายร่วมด้วย
“ไม่อยากให้ผู้ร้องรู้สึกท้อ หากต้องมีเรื่องของการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรวบรวมข้อมูล เรื่องระยะเวลา หรืออุปสรรคต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียหายที่ถูกข่มขู่จากทางบริษัท ขอฝากว่า ไม่ต้องเป็นกังวล สภาผู้บริโภคจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรม และขอชื่นชมผู้ปกครองและนักเรียนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ถือว่าเป็นการเตือนผู้ประกอบที่ดีให้ดำเนินการให้ตรงตามโฆษณา” สารี กล่าว
ด้านตัวแทนผู้ปกครองเด็กที่ได้รับความผู้เสียหาย กล่าวถึงการไม่ได้รับสิทธิตามที่บริษัทได้โฆษณาไว้ว่า ค่ายดังกล่าวโฆษณาว่า จะมีการแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 คณะ และ 100 อาชีพ แต่ในวันงานจริงกลับมีการออกบูธไม่ถึง 10 บูธ และกิจกรรมมีไม่ครบตามที่โฆษณาไว้ ส่วนประเด็นผู้เชี่ยวชาญที่มาให้คำแนะนำ นักเรียนที่เข้าร่วมมีต่างข้อกังขาว่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอย่างที่โฆษณา และเมื่อสอบถามแล้วกลับไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน หรือบางคำถามผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถตอบได้
“ประเด็นแพคเกจวีวีไอพี ที่ค่ายแจ้งว่าจะมีพี่เลี้ยงดูแลตัวต่อตัว มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตัวต่อตัว แต่ความเป็นจริงไม่มีพี่เลี้ยงดูแลหรือได้รับคำแนะนำส่วนตัวแต่อย่างใด ภายในงานไม่มีการประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียดแต่ละกิจกรรม ปล่อยให้ผู้เข้าร่วมเดินหากิจกรรมกันเอง ส่วนกิจกรรมเวิร์กชอปเป็นเพียงบูธเล็ก ๆ และเนื้อหาที่เป็นพื้นฐาน อุปกรณ์บางบูธไม่สามารถใช้ได้จริง และบางบูธอุปกรณ์ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้เข้าร่วม”
ตัวแทนผู้ปกครองเด็กกล่าวอีกว่า เด็กหลายคนตั้งใจมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับฟังความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และค้นหาตัวเองกับสาขาอาชีพที่ใช่ แต่กลับไม่ได้อะไรกลับไปเลย เพราะเนื้อหาของการบรรยายส่วนใหญ่เป็นไปทางเน้นการลงทุน การทำธุรกิจ มากกว่าเนื้อหาด้านวิชาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาที่เด็กควรได้รับ รวมถึงมีเนื้อหาการเหยียดอาชีพอื่นที่มีรายได้น้อย จึงมองว่าเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องให้กับเด็ก
ขณะที่ประเด็นการได้รับเกียรติบัตรตามที่มีการโฆษณาไว้ว่าจะได้จำนวน 30 ใบ เพื่อนำไปประกอบการทำแฟ้มสะสมผลงานยื่นเข้ามหาวิทยาลัย (พอร์ตแบบรายบุคคล) ตัวแทนผู้ปกครอง ยืนยันว่า ผู้ปกครองบางรายไม่สามารถดาวน์โหลดเกียรติบัตรได้ และรายละเอียดในเกียรติบัตร ไม่ตรงกับความเป็นจริง นักเรียนไม่ได้ปฏิบัติจริงตามรายละเอียดในเกียรติบัตร รวมถึงวันที่ทำกิจกรรมกับวันที่ออกในเกียรติบัตรไม่ตรงกัน ประเด็นที่สำคัญคือไม่สามารถนำไปใช้ประกอบการยื่นมหาลัยได้ เนื่องจากไม่ใช่ค่ายที่ได้การรับรอง อีกทั้ง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกังวลเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทางบริษัทให้กดยินยอมเพื่อจะนำรูปไปใช้ประกอบการโฆษณา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วนักเรียนไม่เต็มใจยินยอม แต่หากไม่ยินยอมจะไม่สามารถออกตั๋วเข้างานได้
ทั้งนี้ ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาที่ได้รับความเสียหาย ได้มีข้อเรียกร้องใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ขอให้บริษัทชดเชยเยียวมูลค่าความเสียหายให้ครอบคลุมกับค่าเสียหายที่ได้เสียไป เช่น ค่าลงทะเบียน ค่าประกอบอาชีพที่เสียไป เพราะต้องไปส่งลูกเข้าคอร์สแนะแนว ค่าเรียนของสถาบันอื่นที่เสียค่าใช้จ่ายไปเนื่องจากนักเรียนต้องขาดเรียน 2) ขอให้สภาผู้บริโภคตรวจสอบเกียรติบัตรว่า มีหน่วยงานใดยืนยันได้ว่า สามารถนำไปใส่แฟ้มสะสมผลงานได้จริง 3) ขอให้ตรวจสอบเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการบังคับให้ยินยอมใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อแลกกับตั๋วเข้าร่วมงาน และนำรูปนักเรียนใช้เพื่อการโฆษณา รวมถึงขอให้ลบรูปนักเรียนที่ไม่ยินยอมออกจากช่องทางประชาสัมพันธ์ของบริษัททุกช่องทาง 4) เรียกร้องหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาช่วยพิจารณาความน่าเชื่อถือของค่ายแนะแนวก่อนรับงาน และฝากกระทรวงศึกษาธิการประชาสัมพันธ์ว่าพอร์ตแบบไหนใช้สะสมงานได้จริง
“แม้ว่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่เราเคยพูดคุยกันหลังจัดงานไปว่ากิจกรรมไม่ตรงตามโฆษณา บริษัทเพียงขอโทษ แต่ไม่มีการเสนอแนวทางรับผิดชอบที่ชัดเจน นอกจากนี้ เคยมีทั้งผู้ปกครองและนักเรียนไปแสดงความเห็นที่เพจเฟชบุ๊ก สุดท้ายโดนบล็อก และบริษัทส่งจดหมายมาแจ้งว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายข้อหาหมิ่นประมาท นี่ก็คงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนไม่กล้าดำเนินออกร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ขอฝากถึงผู้ปกครองและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมาก่อนหน้าที่ อยากให้ทุกคนเข้ามาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค และ อย่าคิดว่าเงินเล็กน้อย หรือเสียเวลา เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อเด็กๆ หากปล่อยผ่าน จะเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ค่ายใช้หากินกับความหวังของเด็ก ๆ” ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าว
ขณะที่ ภัทรกร กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 จากผู้ปกครอง 114 คน ซึ่งมีนักเรียนที่ได้รับความเสียหายกว่า 700 คน และได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงบริษัทเพื่อนัดเจรจาไกล่เกลี่ย และสำหรับผู้เสียหายท่านใดที่ได้ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้ว หากมีความประสงค์ไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม และต้องการเงินคืน ให้ดำเนินการทำหนังสือยกเลิกสัญญา แต่หากบริษัทแจ้งว่าไม่คืนเงินทุกกรณี ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคได้ และขอเตือนภัยผู้บริโภคท่านอื่นที่สนใจค่ายแนะแนวในลักษณะดังกล่าว ขอให้พิจารณาจากกรณีนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากการโฆษณาที่เกินจริง
“ขอผู้ที่ได้รับความเสียหายเก็บหลักฐานประกอบคือ เอกสารโฆษณา หลักฐานการโอนเงิน หลักฐานช่องแชท และสิ่งที่ได้รับจริงจากงาน แล้วรวบรวมหลักฐานเข้าร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค รวมถึงมหาวิทยาลัยที่ถูกค่ายแนะแนวแอบอ้างนำไปประชาสัมพันธ์ขอให้ออกมาชี้แจงหากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่ายดังกล่าว”
สำหรับประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลนั้น รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ตามกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ระบุว่า ห้ามไม่ให้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลเด็กและผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยปราศจากความยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ค่ายดังกล่าวเก็บข้อมูลนักเรียนโดยไม่มีผู้ปกครองรับรู้ และยังไม่มีตัวเลือกอื่นให้เลือกนอกจากกดยินยอม ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล