วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ย้ำเตือนให้คนทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิสำคัญ 8 ประการ รวมถึงการดูแลสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค
วันสิทธิผู้บริโภคสากลเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2502 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า ‘Consumer Right Day’ โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนั้นได้มีการบัญญัติสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในเริ่มต้น ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร, สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยด้านสุขภาพ, สิทธิที่จะเลือกบริโภค และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา
ในแต่ละปีจะมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภค โดยมีสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนร่วมกันและเป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันสะท้อนปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้องและคุ้มครอง
สิทธิผู้บริโภคได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในปี 2525 และประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2528 อีกทั้งได้ร่วมกันรับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ประการ คือ
- สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to basic need) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (The right to safety)
- สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to information)
- สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose)
- สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (The right to be heard)
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย (The right to redress)
- สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education)
- สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to healthy environment)
อย่างไรก็ตาม จากสิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการข้างต้น ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบอีกในเรื่อง “แนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดหลักการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วโลก และได้มีการแก้ไขปรับปรุงอีกหลายครั้ง ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งล่าสุดคือ ปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีประเด็นสิทธิผู้บริโภคเพิ่มเติมที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติควรนำไปปรับใช้เพิ่มเติม ได้แก่
- สิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสะท้อนความเห็นต่อโครงการหรือนโยบายที่กระทบต่อผู้บริโภค
- สิทธิในการส่งเสริมเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน
- สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และเสรีภาพในการติดต่อ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั่วโลก
ในส่วนของประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้กำหนดสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครองไว้เพียง 5 ประการ ได้แก่ 1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ 2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
จากความแตกต่างในการรับรองสิทธิผู้บริโภคของไทยและสากล จะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยยังรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้จำกัดเกินไป และไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค หากมีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจะเป็นการขยายขอบเขตสิทธิของผู้บริโภคให้ครอบคลุมจะทำให้สถานภาพ บทบาท และโอกาสในการแสดงพลังของผู้บริโภคมีมากขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยก็จะได้รับหลักประกันโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยสี่อย่างเสมอหน้า
ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เห็นว่าควรได้ใช้วาระแห่งวันสิทธิผู้บริโภคสากลที่จะมาถึงในวันที่ 15 มีนาคม 2566 และวาระที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นโอกาสในการสื่อสารรณรงค์เพื่อให้ผู้บริโภค ภาคการเมือง และทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือนซึ่งช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน
ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จำนวน 283 องค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกขององค์กรผู้บริโภคสากล สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน”