ปัญหาผู้บริโภคพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากเรื่องถังแก๊สหุงต้มไม่ปลอดภัยแล้ว ยังมีปัญหาถังแก๊สข้ามแดน และถังข้ามจังหวัดอีก ทำให้เศรษฐกิจแต่ละจังหวัดหายไป
เวลาเราพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ในใจของเราจะถึงอะไรก่อน
หนึ่ง ปลอดภัย
สอง เป็นธรรม
สาม ประหยัด
แต่สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คนพื้นที่จะไม่พูดเรื่องอาหาร หรือประเด็นอื่นมากมายเท่ากับการเดินออกจากบ้านแล้วต้องมีความปกติสุข
“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยุคดิจิทัล เป็นเรื่องของโจรที่มาตอบสนองความสะดวกสบายของเรา เราอยากรวย อยากสบาย นั่งอยู่กับบ้านไม่ไปไหน โจรก็มาตอบสนองความสะดวกสบายแกมโกง จนส่งผลกระทบต่อทุกคน” รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล ที่ปรึกษาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ยะลา มองผ่านงานการคุ้มครองผู้บริโภค ในบริบทพื้นที่จังหวัดปลายด้ามขวานของไทย ที่อาจไม่เหมือนกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ
เขาเห็นว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อ เมื่อเราทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี จำเป็นที่ต้องเท่าทันโจรด้วย
แม้ระบบใหญ่กำลังเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภค พยายามไปปิดช่องว่างที่ไม่ให้โจรหลอก เช่น ข้อเสนอของสภาผู้บริโภคต่อภาครัฐ ให้ออกมาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction)” ในยอดเงินโอนสูงเกิน 1 หมื่นบาท ให้ธนาคารชะลอการโอนเงินออนไลน์ไว้เป็นเวลา 72 ชั่วโมง หวังป้องกันภัยไซเบอร์
“เมื่อระบบใหญ่ยังไม่เปิด ระบบใหญ่ รู้แล้วว่า โจรหลอกเราอย่างไร พยายามออกมาตรการออกมา วันนี้ที่ทำได้ คือการรู้เท่าทันโจร” รอซีดี สะท้อน
เมื่อถามถึงอนาคตการคุ้มครองผู้บริโภคสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะประเด็นบริการสาธารณะ 1 ใน 9 ประเด็นปัญหาที่สภาผู้บริโภคกำลังขับเคลื่อน ที่ปรึกษาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ยะลา บอกว่า บริการขนส่งสาธารณะ ความทันสมัยเข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว ถามว่า บ้านหนึ่งมีมอเตอร์ไซด์กี่คัน ทำไมต้องใช้รถตุ๊กตุ๊กอีก ทำไมต้องใช้บริการสาธารณะอีก ในเมื่อออกจากบ้าน 100 เมตรก็ขับมอเตอร์ไซด์ 200 เมตรก็ขับมอเตอร์ไซด์ มากกว่านั้นก็คือรถยนต์ เด็กนักเรียนขับมอเตอร์ไซด์ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ใช้รถยนต์ สถานการณ์เป็นแบบนี้จริงๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รถจักรยานไม่มี มอเตอร์ไซด์เข้ามาแทนที่ ถามว่า รถตุ๊กตุ๊กมีไว้ทำไมอีก
ตัวอย่างจังหวัดยะลา หากเป็นนักท่องเที่ยว พักอยู่โรงแรมแล้วอยากจะไปอีกทีหนึ่ง ยืนคอยตุ๊กตุ๊ก 2 ชั่วโมง ก็ไม่วิ่งผ่าน เพราะรถตุ๊กตุ๊กจะคอยให้บริการอยู่หน้าโรงพยาบาล หน้าสถานีรถไฟเท่านั้น
ไม่เฉพาะพื้นที่จังหวัดยะลา บริการขนส่งสาธารณะพื้นที่นราธิวาสก็ไม่ต่างกัน เพราะความทันสมัยเข้ามา
“บริการขนส่งสาธารณะ หากให้ภาคเอกชนมาลงทุน ไม่คุ้มทุน” รอซีดี ยืนยัน ก่อนจะย้อนถาม วันนี้ใครยังนั่งรถโดยสารประจำทางจากยะลามาปัตตานี ? ดังนั้น บริการสาธารณะ สิ่งที่คนพื้นที่ต้องการ คือ ความปลอดภัย การเดินออกจากบ้านแล้วปกติสุข
ที่ปรึกษาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ยะลา ยังเห็นว่า ผู้บริโภคอยู่ในยุคเทคโนโลยีที่เข้ามามีผลต่อชีวิตมากขึ้นๆ สำคัญที่สุดวันนี้ ผู้บริโภคอย่าให้โจรหลอก อะไรเรียกร้องรัฐได้ทำ อะไรเรียกร้องรัฐไม่ได้ขอให้ทำเอง
สำหรับหน่วยงานเขตพื้นที่ หน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นกลไกการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในระดับพื้นที่ กัลยา เอี่ยวสกุล นายกสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยจนสำเร็จว่า เกิดจากพลังของผู้บริโภคปัตตานี สร้างการมีส่วนร่วมกับรัฐ เอกชน ในการแก้ไขปัญหา เหมือนสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาขับเคลื่อนจนสู่งานระดับนโยบาย
“ปัตตานี วางแผนจะขยายเรื่องมาตรฐานรถรับส่งนักเรียนไปอีก 8 แห่ง ซึ่งปัญหาผู้บริโภคในจังหวัดปัตตานี เรามีการทำงานเชื่อมกับหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัด ตำรวจจราจร”กัลยา ระบุถึงการทำงาน และว่า การที่ปัตตานีจัดเวทีสภาผู้บริโภคทุกปี เพราะมองว่า การรับเรื่องร้องเรียนรับมาจากข้างล่าง หากระดับนโยบายไม่เอาด้วย การขับเคลื่อนคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคก็ทำได้ลำบาก
ขณะที่ภาคเอกชนสะท้อนมุมมองประเด็นปัญหาร่วมของผู้บริโภคสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ขับเคลื่อน มีการสำรวจความปลอดภัยการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และพบว่า ถังแก๊สไม่ปลอดภัย ถังแก๊สทำสี ถังแก๊สหมดอายุไม่ได้คุณภาพ
ปฐวี ใจโต เลขาธิการหอการค้า จังหวัดปัตตานี บอกว่า เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ผู้ประกอบการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่เป็นหน้าที่ของผู้ถือใบอนุญาตมาตรา 7 หมายถึง ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด หรือเจ้าของแบรนด์นั่นเอง
“หากถังแก๊สหุงต้มถูกส่งกลับเข้าโรงงานแล้ว เจอถังอายุ 5 ปี ตรวจมาตรฐาน ตีเลขใหม่ หรือถังแก๊สอายุเกิน 10 ปี ต้องดึงถังนั้นไปทำลาย แต่พบว่า หลายๆ แบรนด์ไม่ได้ทำเช่นนั้น” เลขาธิการหอการค้า จังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูล และเปิดตัวเลขต้นทุนเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ถังแก๊สหุงต้ม 1 ถังมีต้นทุนอยู่ 1,000 บาท สมมุติดึงไปทำลาย และนำมาทำใหม่ เมื่อนำมาแลกกับผู้ใช้ ผู้ผลิตถังจะมีต้นทุน 1,000 บาท
ถังแก๊สหุงต้มหมดอายุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปฐวี ยืนยันว่า มีเยอะมาก ของปตท.มีประมาณ 3 หมื่นใบ ถังของยูนิคสยามรวมกันประมาณ 2 แสนใบ ถังแก๊สของปิกนิก 2-3 หมื่นใบ ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบโรงบรรจุก๊าซ ทำสัญลักษณ์ไว้หมด แต่เมื่อส่งไปส่วนกลาง ส่วนกลางบอกว่า ยังใช้ได้อยู่ ส่งกลับเข้ามาในระบบ นี่คือทางถูกต้อง แต่ยังมีทางไม่ถูกต้องอีก ถังแก๊สหุงต้มในครัวเรือนมีแบบทำสีกันเอง ไม่สกรีนฉลาก สิ่งเหล่านี้คืออันตรายใกล้ตัวที่อาจจะเกิดกับผู้บริโภค
“โรงบรรจุก๊าซหุงต้ม จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ผู้ประกอบการจะไม่ยอมเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้เด็ดขาด เพราะหากเกิดเหตุระเบิดขึ้น กฎหมายพลังงานมีโทษรุนแรงมาก เช่น โรงบรรจุก๊าซทำผิดเพียงข้อเดียว โทษจำคุกทันที”
ปัญหาผู้บริโภคพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากเรื่องถังแก๊สหุงต้มไม่ปลอดภัยแล้ว ยังมีปัญหาถังแก๊สข้ามแดน และถังข้ามจังหวัดอีก ซึ่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจแต่ละจังหวัดหายไป เช่น หากถังแก๊สของจังหวัดปัตตานี ข้ามมาขายที่ยะลา 1 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หายไปแล้ว 1 ล้านบาท
“ถังแก๊สหุงต้มขายข้ามจังหวัด จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจผิดเพี้ยนไป ในฐานะผู้ประกอบการ อยากให้ผู้บริโภคทุกคนจะต้องรู้และช่วยผู้ประกอบการในจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน เพราะการซื้อของต่างจังหวัด ต่างถิ่น หรือซื้อของต่างประเทศ เวลาร้องเรียน หรือหาตัวผู้ประกอบการจะเป็นเรื่องยาก แต่หากซื้อในจังหวัด สามารถร้องเรียนในพื้นที่ได้สะดวกกว่า”ปฐวี ชี้ให้เห็นผลกระทบเป็นลูกโซ่ ก่อนจะยกตัวอย่าง การซื้อแก๊สหุงต้มข้ามแดน ก็เหมือนการซื้อสินค้าออนไลน์ หากผู้บริโภคไม่คลิกไม่ซื้อของออนไลน์ ก็ถือว่า ช่วยผู้ประกอบการ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้แล้ว
เลขาธิการหอการค้า จังหวัดปัตตานี ยังให้มุมมองถึงแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ หากผู้บริโภควิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า ไม่ใช่ผู้ประกอบการคนไทย ปลอมตัวเป็นคนไทยทั้งนั้น มีสถานที่ตั้งอยู่ขอบชายแดน แล้วขนของข้ามแดนเข้ามาเป็นกองทัพมด ซึ่งเวลาสินค้ามีปัญหาคุณภาพ ถามว่า ผู้บริโภคจะฟ้องร้องผู้ประกอบการได้ที่ไหน ฉะนั้น วันนี้เราต้องสร้างความรักถิ่น ซื้อสินค้าของพื้นถิ่นก่อน หลังจากนั้นมองออกไปข้างๆ มองไปยะลา นราธิวาส สงขลา ไม่มีสินค้าจริงๆ ค่อยไปกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ
เรื่องถังแก๊สหุงต้ม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กับการปลุกกระแสการรักถิ่น ถังแก๊สข้ามถิ่น แม้จะมีราคาถูกกว่า ในฐานะผู้ประกอบการ ก็ได้แนะนำผู้บริโภคให้ลองยกถังแก๊สขึ้นตาชั่ง แล้วจะเห็นว่า ปริมาณ น้ำหนัก หายไป
ฉะนั้น การซื้อสินค้าไม่ว่าชนิดใด ผู้บริโภคต้องคิดถึงคุณภาพ และความปลอดภัยก่อนเสมอ…..