สภาผู้บริโภค คัดค้านกรมวิชาการเกษตร นำผลการรับฟังความคิดเห็นไปสนับสนุนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และหรือเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ระบุกระบวนการรับฟังความเห็นไม่เป็นกลาง – ทำไม่รอบด้าน ย้ำ ขอให้หน่วยงานกำกับดูแลตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมา หากเข้าร่วมโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
กรณีเครือข่ายผู้บริโภคปฏิเสธเข้าร่วมเวทีให้ข้อมูลอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ของกรมวิชาการเกษตรนั้น จากเหตุผลที่ว่าเวทีให้ข้อมูล UPOV 1991 มีลักษณะชี้ชวนให้เห็นประโยชน์ทางบวกมากกว่าผลกระทบทางลบ หากเข้าเป็นสมาชิก ทั้งๆ ที่นักวิชาการระดับโลก รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศต่าง ๆ ได้ชี้ถึงปัญหาผลในการเข้าร่วม UPOV 1991 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค จึงยืนยันขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามข้อเสนอเดิมของผู้บริโภคที่ขอให้ชะลอเข้าร่วมกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวก – ด้านลบจะแล้วเสร็จนั้น
วันนี้ (15 มิถุนายน 2566) มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ทำหนังสือถึงสภาผู้บริโภค โดยได้ชี้แจงขั้นตอน กระบวนการ และข้อมูลที่นำเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นการเตรียมความพร้อมกรณีที่รัฐบาลจะเซ็นสัญญาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ในการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP
ในครั้งนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นและการประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นต่อการเตรียมความพร้อมดังกล่าว แต่สภาผู้บริโภคยังคงไม่เห็นด้วยกับการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองครั้ง เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนี้มีความไม่เป็นกลาง ใช้ข้อมูลไม่รอบด้าน และไม่ครบองค์ประกอบของการรับฟังความเห็น จึงได้ทำความเห็นการคัดค้านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ หรือ กนศ.
“เนื่องจากกระบวนการที่ไม่เป็นกลาง การใช้ข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ไม่ครบองค์ประกอบของการรับฟังความเห็น ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือรับเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 และขอให้หน่วยงานกำกับดูแลตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศด้วย” ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาผู้บริโภค ระบุ
มลฤดี กล่าวต่อว่ากระบวนการสำรวจความคิดเห็นที่สภาผู้บริโภคมีความเห็นฯว่าไม่เป็นกลาง เนื่องจากวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปเพื่อยืนยันข้อมูลและเตรียมความพร้อมเพื่อรับพันธกรณี CPTPP เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งขัดกับข้อความที่กรมวิชาการเกษตรชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า
‘การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลให้กับนักปรับปรุงพันธุ์พืช ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความเห็นต่อประเด็นข้อเสนอ ข้อสงวน และหรือระยะเวลาการปรับตัวของไทยในการรับพันธกรณี CPTPP ซึ่งการจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นการดำเนินการตามมติ กนศ. เพื่อยืนยันข้อมูลจากที่ได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้วให้กับ กนศ. นำเสนอและพิจารณาต่อ…”
ในเมื่อวัตถุประสงค์ของการจัดรับฟังความคิดเห็นขาดความเป็นกลาง ไม่ให้ข้อมูลผลกระทบที่สำคัญต่อสิทธิเกษตรกร ต่อผลประโยชน์ของชุมชน และผู้บริโภค ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV 1991 ที่จะนำไปสู่แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งจะมีผลที่ทำให้ เกษตรกรรายย่อยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น หรือการสูญเสียความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในการทำให้ข้อมูลเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้นั้น
มลฤดีชี้ว่าควรเพิ่มข้อมูลและงานวิชาการที่มีความเป็นกลางและรอบด้านเพื่อให้ผู้ที่ตอบแบบสำรวจได้พิจารณา ได้แก่ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPPของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากกระบวนการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและรอบด้าน หรืองานวิจัย ‘มอง CPTPP ผ่านเลนส์ SDGs: การพัฒนาที่ไม่สมดุลง โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการจากศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDSN Thailand)
แต่หากพิจารณาดูคำถามที่ใช้ในการสำรวจความคิดเห็นนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะคำถามชี้นำ ทำให้การประมวลสรุปผลไม่สามารถสะท้อนการไม่เห็นด้วยกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ออกมาในรูปแบบร้อยละได้ แม้กรมวิชาการเกษตรจะชี้แจงว่ามีคำถามถึงข้อเสนอแนะอื่น ๆ ให้ผู้ตอบสามารถเขียนข้อความใดก็ได้ แต่ตำแหน่งข้อเสนอแนะอื่น ๆ อยู่ในข้อสุดท้ายของแบบสำรวจประกอบกับคำถามชี้นำก่อนหน้าจึงเป็นพื้นที่ที่จำกัดความคิดเห็นและไม่สามารถสะท้อนเสียงของผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ได้ และข้อมูลสรุปผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความกังวลของผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม โดยร้อยละ 75.3 คิดว่าจะมีผลกระทบมาก
ดังนั้น เมื่อการสำรวจความคิดเห็นดังที่กล่าวนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 จึงไม่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ได้ เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนหนึ่งปฏิเสธการเข้าร่วม เพราะเห็นแนวโน้มที่ไม่เป็นกลางของกระบวนการสำรวจความคิดเห็นในครั้งแรก