องค์กรจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อ “เรามีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกัน” เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดตั้งองค์กร และเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรของผู้บริโภคเขตพื้นที่ภาคเหนือ
การทำงานแบบมีส่วนร่วมนั้นไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว ระดับโรงเรียน ระดับชุมชน ระดับองค์กร หรือระดับประเทศ จำเป็นจะต้องมีกระบวนการ มีขั้นตอนให้ความสำคัญต่อผู้คนไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างทุกวันนี้ ผู้คนจะเข้าร่วมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยสมัครใจ เต็มใจนั้น อย่างน้อยควรมีพื้นฐานคติ ความคิดในเรื่องของการมีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่ประสบการณ์หรือความเชื่อของตัวเองแต่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงอยู่ภายในใจไม่มากก็น้อย
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา (วันที่ 25 – 26 กันยายน 2565) หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรของผู้บริโภคภาคเหนือ โดยเน้นการจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งขององค์กรของผู้บริโภค เพื่อสร้างวัฒนธรรมและมุุมมองใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภคไทยว่า
การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุุกฝ่าย ควรส่งเสริม สนับสนุุน และพัฒนาให้เกิดการบริิโภคที่ยั่งยืน เป็นมิิตรกัับผู้คน ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ยังประโยชน์ให้กับผู้คน สังคม และประเทศชาติ
กิจกรรมเริ่มด้วย ปาฐกถาพิเศษของ คุณชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ หรือที่พี่น้องภาคประชาสังคมเรียกกันคุ้นเคยว่า “พี่ชัชวาล” ซึ่ง พี่ชัชวาล ได้กล่าวถึง การเสริมสร้างพลังประชาชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยยกตัวอย่างการทำงานจัดการปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาวจังหวัดเชียงใหม่ว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซับซ้อน เชื่อมหลายเรื่อง หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชนทุกคนในเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ
รวมไปถึงเงื่อนไขทางกายภาพที่เอื้อให้ฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดที่พัดพาให้เกิดฝุ่นควันนั้นเกี่ยวข้องกับใครบ้าง อย่างไร เป็นปัญหาการบริโภคเกินความจำเป็น จนส่งผลให้เกิดภาวะสิ่งแวดล้อมปั่นป่วนและเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาใช่หรือไม่ แล้วเราจะจัดการอย่างไรเพียงเราลำพังคนเดียว ไม่สามารถจัดการได้แน่ แล้วกฎหมาย หรือคำสั่ง ข้อห้าม ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วล่ะ ช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่
“เรามีนโยบาย ยุทธศาสตร์ เทคโนโลยีและเครื่องมือที่สามารถติดตามจุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของการเกิดไฟ เรามีอย่างครบครัน แต่ปัญหายังเกิดขึ้นซ้ำซาก จริงๆ แล้วเราขาดอะไรกันแน่ … ?”
การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง คือ คำตอบของการพัฒนาให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ซึ่งให้ความสำคัญต่อมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยี และควรคิดว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีความคิดและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันมาตั้งแต่เกิด มีภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีความเป็นอยู่ของตนในระดับหนึ่ง มีความสามารถพัฒนาชีวิตให้ดีได้ถ้าได้รับโอกาสที่จะร่วมคิด ร่วมเข้าใจ และร่วมจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม
ดังนั้น ก่อนที่จะแก้ไขปัญหาหรือพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นตามเป้าหมายและความคาดหวังของกันและกันนั้น “ผมคิดว่าเป็นเรื่องของช่องว่าง ทั้งช่องว่างขององค์ความรู้ระหว่างรัฐ คนในเมือง กับชุมชนที่พึ่งพาผืนป่ามาตลอดชีวิต หลายชั่วอายุคน จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดให้กลายเป็นองค์ความรู้ร่วม และ ช่องว่างในเรื่องของกระบวนการทำงานระหว่าง Top Down กับ Bottom Up หมายถึงว่า การสั่งการจากข้างบนลงไป
แล้วก็การมองปัญหาแบบเป็น event เป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในช่วงสองเดือน (มีนาคม-เมษายน) จัดการสองเดือนแล้วก็จบ ซึ่งวิธีการสั่งการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ดังนั้น ต้องเป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน โดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เปลี่ยนจากโทษกันไปมา เป็นยอมรับข้อผิดพลาดของกันและกัน ลุกขึ้นมารวมพลังกันแก้ปัญหา เพราะในความเป็นแล้วจริงแล้วทุกคนมีส่วนสร้างปัญหา โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาสังคมนั้น เกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาคประชาชนทั้งหมด”
ในส่วนของสภาลมหายใจเชียงใหม่ เราเสนอว่าต้องวิเคราะห์ปัญหาใหม่ ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีความซับซ้อน มีพลวัตตลอดเวลา เชื่อมโยงตั้งแต่เรื่องของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนเมือง ไปจนถึงภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม
รวมทั้งมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนสถานการณ์โลกร้อน เราต้องวิเคราะห์ภาพรวมด้วย เมื่อทุกภาคส่วนเข้าใจสถานการณ์ใหม่ก็ต้องปรับตัว เราจะเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนอย่างไร จะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ประโยชน์จากชีวมวลแทนการเผาได้ไหม้ จะส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น มีการใช้จักรยานมากขึ้น มีทางเดินที่น่าเดินมากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้นได้ไหม
หรือจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการจัดการปัญหาได้อย่างไร รวมถึงเราจะผลักดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไปปลูกข้าวโพด มีความโปร่งใส รับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานอย่างไร ความหมาย หรือแผนที่นำทางคือ เราต้องแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เป็นองค์รวมทั้งหมด เป็นแผนกระบวนการที่ต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว จนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ไม่ใช่เฉพาะงานของสภาลมหายใจเท่านั้น งานคุ้มครองผู้บริโภคก็ควรต้องเรียนรู้และพัฒนาจากประสบการณ์จริงที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบของการพัฒนาให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ชุมชน ท้องถิ่น ประชาชนเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ทำอย่างไรให้เรื่องเบี้ยหัวแตกทั้งหลาย กลายเป็เรื่องที่มีพลัง การวิเคราะห์ผู้เกี่ยวข้อง หรือ Stakeholder ทั้งหมด เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น พื้นที่ตรงกลาง จึงสำคัญในการเชื่อมประสาน ขอความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมปฏิบัติ ร่วมเป็นเจ้าภาพ” ประโยคปิดท้ายสำคัญของ พี่ชัชวาล ทองดีเลิศ
จากนั้นเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ ในการสร้างพลังสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้บริโภคของหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีการนำเสนอกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือ และประสบการณ์การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรสมาชิก โดยหน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค
ประกอบด้วย ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพะเยา (หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา) สมาคมพัฒนาประชาสังคม จังหวัดเชียงราย (หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงราย) ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำปาง (หน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง) ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลำพูน (หน่วยงานประจำจังหวัดลำพูน) และศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ (หน่วยงานจังหวัดเชียงใหม่)
ต่อด้วย เจ้าภาพหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้ชวนผู้บริหารสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรรมการนโยบายเขตพื้นที่ภาคกลาง หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานประจำจังหวัด ทั้ง 14 จังหวัดที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยน เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือ 4 องค์กร
ได้แก่ เครือข่ายผู้บริโภค ชมรมใจเขาใจเราจังหวัดเชียงใหม่, ชมรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (ช.อ.บ.) เขตเมืองเชียงใหม่, เครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดลำพูน, และ สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหลักการแนวทางการบริหารองค์กร ทั้งบริหารงาน บริหารทีมงาน อาสาสมัคร บริหารงบประมาณ และบริหารเครือข่ายภายใต้แนวคิดการบูรณาการและมีส่วนร่วมทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งขององค์กร ชุมชน และสังคมในพื้นที่ความรับผิดชอบของทั้ง 4 องค์กร
บทเรียนที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานพัฒนาสังคมของเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 องค์กรที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ ผู้เขียนได้ฝึกสังเกตผู้คนที่ทำงานภาคประชาสังคม การให้คุณค่าทางสังคมที่สะท้อนมุมมอง และวิธีคิดของผู้นำองค์กร สะท้อนความเป็นตัวตนของคนทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน ที่สำคัญคือ ได้สังเกตตัวเอง รู้จักและยอมรับตัวเอง ไปพร้อมๆ กับ “รู้สึกตัว” ไม่ลืมที่จะกลับมาทบทวนตัวเอง
หัวใจสำคัญของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์จริงที่ผู้เขียนได้กับตัวเอง คือ “รู้ตัว ทั่วพร้อม .. มีสติ รู้คิด รู้จัก รู้ใจ รู้สภาพร่างกายของตัวเอง” ว่าทำงานอย่างไร ซึ่งแบบฝึกหัดระยะยาวที่ผู้เขียนต้องกลับมาฝึกฝน “ฝึกรู้ตัว ทั่วพร้อม” ให้มากเท่าที่จะมากได้ เพราะการเรียนรู้ที่เรามักพบเจออยู่บ่อย ๆ มักพาเราพุ่งออกไปข้างนอกหลายร้อยกิโลเมตร พุ่งไปที่เป้าหมายของความสำเร็จจนลืมความจริงตรงหน้า และละเลยความรู้สึกภายใน 2 เซนติเมตรข้างใน
ผู้เขียนเจอคำถามหลายคำถามที่น่าสนใจกับตัวเอง เช่น ระหว่างที่เราสนใจเป้าหมาย เราสนใจเพื่อนร่วมทางในชีวิตไหม, ระหว่างเราที่ล้มเหลวหลายครั้ง เราเห็นอะไรภายในใจตัวเองหรือเปล่า, เราควบคุมคนอื่นไม่ได้ แล้วเรากลับมาควบคุมตัวเราเองได้หรือไม่ อย่างไร,
เราเห็นข้อผิดพลาดของคนอื่น แล้วเราเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองไหม คำถามที่ผุดขึ้นตรงกลางใจนี้ สำคัญต่อการรับความรู้ที่ตรงประเด็น ตรงแก่นสาร สาระสำคัญของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ก่อนที่เราจะเอาไปใช้ หรือไปเผยแพร่ให้ผู้คนได้รู้จัก รู้จริง และรู้ใจกระบวนการทำงานสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อความเข้มแข็งของเครือข่าย องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ต่อไป
Keyword (คีย์เวิร์ด) สำคัญที่ผู้เขียนได้จากการลงพื้นที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของ “ป้าติ๋ม” ประธานชมรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (ช.อ.บ.) เขตเมืองเชียงใหม่ ก็คือ “เข้าใจ เข้าถึง ให้อภัย ให้โอกาส” เราจะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน พัฒนาสังคมได้ดีนั้น เราต้องไม่ลืมที่จะ “พัฒนาตัวเอง ให้ใจคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว”และ “ก่อนที่เราจะมีศักยภาพ เราต้องเรียนรู้ก่อน” จิตอาสาไม่ใช่เรื่องของความเป็นมืออาชีพ แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบร่วมกัน
“ทุกคนมองเห็นความเดือดร้อนของกันและกัน ความเดือดร้อนของคนอื่น คือ ความเดือดร้อนของเรา” การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เป็นการ “ให้โอกาส” เป็นการสนับสนุนให้สมาชิกสามารถทำงานตามบทบาท หน้าที่ได้ รวมถึงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ไปพร้อมๆ กับสร้างวินัยการเงิน – การคลัง หมายถึงการสร้าง “วัฒนธรรมร่วมทุกข์ ร่วมสุข .. ร่วมรับผิด ร่วมรับชอบ” ไปด้วยกัน “การมีส่วนร่วม” ถือเป็นปฐมบทที่สำคัญในการปูพื้นฐานการทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรของผู้บริโภค และความเข้าใจเรื่องอื่นๆ ต่อไป
สุดท้าย เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้บริโภคทุกคนดีขึ้น ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา คือ มีอาหารที่ปลอดภัย เข้าถึงระบบริการสุขภาพ บริการทางการเงินที่มั่นคง ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เท่าทันภัยทางไซเบอร์รอบตัว มีสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ดี มีเมืองที่น่าอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษกับผู้คน ถ้าใช้คำใหญ่สุดก็คือ “การบริโภคที่ยั่งยืน”
ในที่สุด คือการปูทางไปสู่หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ทั่วโลกยึดถือเป็นหลักการร่วมกัน คือ เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) ซึ่งสะท้อนว่าเราไม่สามารถให้ผู้ผลิตเป็นจำเลยต่อปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้เพียงฝ่ายเดียว
การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่กันไป เราจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนพลวัตทั้งสอง เพื่อสร้้างวััฒนธรรมและมุุมมองใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภคว่า การคุ้้มครองผู้้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุุกฝ่าย เราควรส่งเสริม สนับสนุุน และพัฒนาให้เกิดการบริโภคที่เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และการที่เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น “การมีส่วนร่วม” คือ พลังการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เป็นกระบวนการบูรณาการขั้นสูงสุด ที่นำพาไปสู่ความเจริญงอกงามของชีวิต ชุมชน สังคม ประเทศ และโลก