วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) สภาผู้บริโภค พบสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หารือประเด็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม สภาผู้บริโภคได้นำเสนอประเด็นปัญหาผู้บริโภคด้านสัญญาที่ได้มาจากเรื่องร้องเรียน รวมถึงการเฝ้าระวังของสภาผู้บริโภค หารือร่วมกับ สคบ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีประเด็นหารือและข้อเสนอ ดังนี้
สัญญาเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม: ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมักเข้าซื้อทรัพย์ที่ติดจำนองหรือทรัพย์จากการขายตลอด ซึ่งมีราคาถูก และนำมาเสนอขายให้ผู้บริโภคในราคาที่สูง ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจกลับไม่ได้ไถ่ถอนทรัพย์ที่ติดจำนองนั้น จนทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือบางรายได้รับหมายศาลขณะที่ผ่อนบ้าน บางรายไม่ผ่อนต่อเพราะคิดว่าคงไม่ได้กรรมสิทธิ์ถือครองบ้าน
ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่ผ่อนต่อ จนกลายเป็นว่าผิดสัญญา และถูกผู้ประกอบธุรกิจที่มีพฤติกรรมไม่สุจริตฟ้องร้อง อีกทั้งยังพบว่าสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้นั้นเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่กำหนดโดยผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายเดียว และมีการใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมหลายอย่าง เช่น ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิตัดน้ำ – ไฟ ปิดประตูล็อกกุญแจบ้านที่ซื้อได้ หากผิดนัดชำระค่างวด และหากมีการติดตาม ทวงถาม ต้องยอมชำระค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500 บาท เป็นต้น
จากประเด็นปัญหาข้างต้น สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่าควรมีกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อให้ผู้บริโภคให้ได้ความเป็นธรรมเมื่อต้องมีการทำสัญญา
สัญญาซื้อขายบ้าน หากผู้บริโภคกู้ไม่ผ่าน จะถูกริบเงินจอง เงินดาวน์หรือเงินที่นำไปทำสัญญา: กรณีที่ผู้บริโภคกู้ไม่ผ่านนั้นอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2557 ที่ระบุโดยสรุปว่า ‘ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจไม่ควรยึดเงินทุกส่วนที่ผู้บริโภคจ่ายไป และผู้บริโภคสามารถฟ้องคืนเงินมัดจำได้’ ด้งนั้น หากกู้ไม่ผ่านจึงต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคคืน
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจองซื้อบ้านหรือห้องชุด จึงควรมีการกำหนดให้ควบคุมสัญญาดังกล่าว รวมทั้งควรมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อาทิเช่น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือประเด็นการไม่ควรริบเงินมัดจำ หากผู้บริโภคกู้ไม่ผ่าน
การประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินและต้องมีหลักประกัน เข่น โฉนด ทะเบียนรถ แต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ส่งมอบสัญญากู้ให้กับผู้บริโภค: จากการที่สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคถูกบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด เอาเปรียบและมีการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการที่ไม่ได้รับเอกสารคู่สัญญา เรียกเก็บค่าประเมินหลักประกัน เมื่อชำระเงินกู้ครบตามสัญญา หรือโฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม แต่มีการเรียกเก็บ เป็นต้น
ประเด็นปัญหาดังกล่าวทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการเอาเปรียบผู้บริโภคในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้น หน่วยงานจึงต้องบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และจำเป็นต้องปรับปรุงประกาศหรือกฎหมายให้มีความชัดเจน กรณีการกู้ยืมเงินที่ต้องนำโฉนดหรือทะเบียนรถมาเป็นประกัน
การผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา: ที่ผ่านมามองว่ารูปธรรมจากการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องมาจากการจะใช้ประโยชน์ของกฎหมายฉบับได้จำเป็นต้องไปฟ้องร้อง ซึ่งการฟ้องร้องสร้างภาระให้ผู้บริโภค อีกทั้งการตีความเกี่ยวกับข้อสัญญาที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภค รวมถึงทั้งเรื่องการให้ความสำคัญกับรูปแบบกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มากเท่าที่ควร เช่น การใช้ภาษาไทยหรือต่างประเทศ ความซับซ้อนของสัญญา
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายด้งกล่าวอาจยังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคได้เพียงพอ ดังนั้น จึงเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมาย หรือการออกหลักเกณฑ์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา (General Principle) ตามสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา โดยอาศัยอำนาจของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา รวมถึงกำหนดโทษเกี่ยวกับข้อสัญญาไม่เป็นธรรมให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ เช่น โทษปรับเป็นเงิน ร้อยละ 5 ของผลประกอบการประจำปี หรือหากไม่มีผลประกอบการอาจปรับสูงถึง 1 ล้านบาท รวมถึงการเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาข้อมูลและวางแผนผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
ขณะที่ สคบ. ขานรับข้อเสนอของสภาผู้บริโภคและจะนำไปหารือต่อไป นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้เสนอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการจัดการปัญหาผู้บริโภค เช่นเดียวกันกับที่สภาผู้บริโภคได้สร้างความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยที่หากสภาผู้บริโภคทำการทดสอบสินค้า สามารถส่งผลการทดสอบเพื่อให้ สมอ. นำไปดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจต่อได้ ซึ่ง สคบ. ระบุว่า หากในอนาคตมีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย สภาผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องให้กับ สคบ. โดยใช้ข้อเท็จจริงเดิมที่ผู้เสียหายแจ้งกับสภาผู้บริโภคไว้ก่อนหน้า และนำไปดำเนินการต่อได้ทันที
ทั้งนี้ ในการประชุมหารือดังกล่าว มีสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นฤมล เมฆบริสุทธิ์ อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ผู้บริหารของสำนักงานสภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องของสภาผู้บริโภคเข้าร่วมหารือ กับธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สคบ.