ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย พบปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิ UCEP หรือการเข้ารักษาอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มในโรงพยาบาลเอกชน นักวิชาการแนะควบคุมระบบค่ารักษาพยาบาลให้สอดคล้องกันทั้ง รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน
นโยบายรัฐบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือที่เรียกว่า สิทธิ “UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients)” คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 6 อาการ ได้แก่
1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6) อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ให้เข้ารับการรักษาและดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤติและสามารถคลื่อนย้ายได้ อย่างปลอดภัย ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม แม้สิทธิ UCEP จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยในฐานะผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง ทันท่วงที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ทว่า การดำเนินงานยังคงพบปัญหาที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามเจตนารมณ์ของโครงการที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้บริโภค
โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติตัดสินใจเข้ารับการพยายาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดตามความจำเป็นอันเร่งด่วน แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาการถูกเรียกเก็บเงิน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่มีรายได้ไม่สูงนัก จนกระทั่งเกิดเป็นความล้มละลายจากความเจ็บป่วย
จากงานศึกษาเรื่อง กลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง ของ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย และคณะ (2565) พบว่า โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดขนาดใหญ่ เป็นตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภคในการใช้บริการเมื่อเกิดความจำเป็น เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ
แต่โรงพยาบาลทั้งสองประเภทมีราคาเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรการรักษาผู้ป่วย อยู่ที่ 65,559.62 บาท ขณะที่โรงพยาบาลรัฐ มีค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรการรักษาผู้ป่วยอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งต่างกันกว่า 5 เท่า
ขณะที่ในความเป็นจริงราคาต้นทุนการจัดซื้อยาระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐนั้น ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ ความเชื่อที่ว่าโรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อยาได้แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมถึงชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่า แม้โรงพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมนโยบาย UCEP แต่ผลการศึกษาพบว่า โรงพยาบาลเอกชนยังคงมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นของโรงพยาบาลต่ำสุดร้อยละ 7 สูงสุดร้อยละ 50 และมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 30.06
จากสถานการณ์การถูกเรียกเก็บเงินของผู้บริโภค เมื่อเข้าใช้สิทธิ UCEP ในโรงพยาบาลเอกชน จึงนำมาสู่ข้อเสนอที่สำคัญ 2 ด้าน อันได้แก่ 1) ข้อเสนอแนะด้านระบบการดำเนินการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และ 2) ข้อเสนอแนะด้านระบบข้อมูลการควบคุมและการกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน
ข้อเสนอแนะด้านระบบการดำเนินการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ UCEP
- ควบคุมและกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยประกาศอัตราค่าบริการแยกรายหมวดค่าบริการ ตามประกาศประเภทหมวดรายการ ในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (UCEP)
- ควบคุมและกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยประกาศกำหนดอัตราค่าบริการตามค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วย (RW) ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) สามารถทำได้ใน 2 แนวทาง คือ
- กำหนดอัตราการเรียกเก็บค่าบริการค่ารักษาพยาบาลสูงสุดต่อค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน (RW)
- การพัฒนาข้อมูลกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมและค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วย (RW) สำหรับโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ในการกำหนดเพดานค่าบริการรักษาพยาบาล ไม่ให้เกินราคาที่กำหนดได้จากการคำนวณตามค่าเฉลี่ยในการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วย (RW) ของกลุ่มโรคร่วมนั้น
ข้อเสนอแนะด้านระบบข้อมูลการควบคุมและการกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน
- พัฒนาระบบคลังข้อมูลทางบัญชีที่สำคัญสำหรับกิจการบริการประเภทโรงพยาบาล
- แสดงรายละเอียดงบการเงินของธุรกิจประเภทโรงพยาบาล ทุกรายการที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน
- พัฒนาระบบคลังข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจ
- พัฒนาระบบคลังข้อมูลผลงานการให้บริการผู้ป่วย ทรัพยากรบุคคล และเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน
- พัฒนาระบบคลังข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยรายบุคคล และราคาเรียกเก็บของผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน
เกี่ยวกับการศึกษา
งานศึกษาเรื่อง ‘กลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง‘ ทำการศึกษาโครงสร้างต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ จากรายงานทางการเงินที่โรงพยาบาลจัดส่งศึกษาค่าบริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ วิเคราะห์รายการเรียกเก็บ (Price Lists) ของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละระดับกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน จากฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งรายการยาค่าบริการต่าง ๆ ที่เป็นรายการที่โรงพยาบาลเอกชนแจ้งกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาข้อเสนอกลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินในโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามแผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นค่ารักษาแพงในโรงพยาบาลเอกชน