แนะปรับหลักเกณฑ์สิทธิป่วยฉุกเฉินให้ใช้ได้จริง

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเวที ‘แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP’ แนะปรับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ใช้ได้จริง

รู้ไหม…ผู้ป่วยที่เกิดอาการ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต’ สามารถใช้สิทธิ ‘UCEP’ เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในระยะ 72 ชั่วโมงแรก

สิทธิในการเข้ารับการรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) มีขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยกำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใต้ 6 อาการเจ็บป่วย ได้แก่

1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6) อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่า มีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากเกี่ยวกับการตีความคำว่าฉุกเฉินวิกฤต โดยตัวเลขผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกบันทึกลงในฐานข้อมูลของ สพฉ. มีจำนวนทั้งสิ้น 1,262,919 ราย แต่กลับมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ UCEP เพียง 111,097 ราย หรือประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด ในขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉินอีก 1,151,822 ราย ถูกวินิจฉัยว่าไม่เข้าเกณฑ์

นั่นหมายความว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ UCEP ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังไม่ชัดเจนหรือครอบคลุมเพียงพอ ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้

ดังนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สอบ. จึงได้จัดเวทีหารือเรื่อง “แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย ได้แก่ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. และสำนักงานประกันสังคม

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ คือ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับสิทธิ UCEP โดย นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร คณะกรรมการบูรณาการ ประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน วุฒิสภา แสดงความเห็นว่า ต้องมีการเจรจาเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการวินิจฉัยในการเข้าถึงสิทธิ UCEP ให้ชัดเจน ระหว่าง สพฉ. กับกองทุนต่าง ๆ เช่น สปสช. และสำนักงานประกันสังคม โดยอาจจะขยายหลักเกณฑ์วิกฤตและฉุกเฉิน รวมถึงขยายระยะเวลาการดูแลรักษาต่อเนื่อง หลัง 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิ UCEP ได้ ไม่ว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการก็ตาม

สอดคล้องกับ สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สอบ. ที่เสนอให้ สพฉ. ทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินของสิทธิ UCEP โดยปรับหลักเกณฑ์ จากที่กำหนดให้ประเมินแค่ผู้ป่วยวิกฤตสีแดง เปลี่ยนเป็นการประเมินผู้ป่วยตั้งแต่สีเหลืองถึงสีแดง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงสิทธิ UCEP ได้อย่างทั่วถึง ส่วนการเก็บค่ารักษาพยาบาลในภาวะหลัง 72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยยังหาเตียงไม่ได้ ขอให้คิดราค่ารักษาพยาบาลในอัตราค่าใช้จ่ายแบบสิทธิ UCEP จนกว่าจะหาเตียงได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะกำหนดกรอบระยะเวลา การพิจารณาเรื่องร้องเรียนทุกขั้นตอน ไปถึงการอุทธรณ์

นอกจากประเด็น การปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคอย่างครอบคลุมแล้ว การผลักดันให้สิทธิ UCEP สามารถใช้งานได้จริงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน วุฒิสภา ระบุว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาพบว่า ยังมีปัญหาอีกหลายประการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องร่วมกันแก้ไข เช่น เมื่อครบระยะเวลา 72 ชั่วโมง ต้องย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ไม่มีเตียงรองรับ จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน วุฒิสภา รับอาสาเป็นเจ้าภาพในการประสานงานจัดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความชัดเจนสำหรับหลักเกณฑ์สิทธิ UCEP เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และใช้งานได้จริง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค