ก่อนคิดเก็บภาษีรถติด สภาผู้บริโภคแนะรัฐทำคู่ขนาน สร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ดี 

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เห็นด้วยหากรัฐบาลจะศึกษาเก็บภาษีรถติด​ เพื่อเป็นหนึ่งในรายได้ ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า แนะสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือยกเลิก Double Deck นำงบฯ 3.4 หมื่นล้าน จัดหารถเมล์ EV บริการประชาชนทั่วประเทศ และเร่งมือสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ดี 

จากกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาเสนอแนวทางการศึกษา การแก้ปัญหารถติดในพื้นที่แออัดของกรุงเทพฯ โดยเสนอเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น สีลม, รัชดา, สุขุมวิท เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้เป็นทางหลัก และรายได้จากส่วนนี้จะนำมาเติม “กองทุนซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า” เพื่อทุกคนได้ใช้ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในเส้นทางอื่นๆ โดยคาดว่า จะใช้เวลาศึกษาการจัดเก็บภาษีรถติด ประมาณ 6 เดือน ถึง ​1 ปี​นั้น

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวแสดงความเห็นด้วยหากรัฐบาลจะศึกษาเก็บภาษีรถติด​ เพื่อเป็นหนึ่งในรายได้ ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการเร่งมือสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ดี 

“แม้รัฐบาลจะชัดเจนเรื่องของค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กำหนดเวลาทำให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายทุกคนที่มาใช้บริการ และลดปัญหา PM 2.5 ของกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล แต่สิ่งที่ควรทำควบคู่กันกับการศึกษาเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือพ.ร.บ.ตั๋วร่วม คือการเร่งมือทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีคุณภาพ เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ดีสนองต่อความต้องการของคนทุกกลุ่มในสังคม”

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสาย ไป-กลับ 40 บาท ก็ยังไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ ที่สภาผู้บริโภคเคยเสนอ แต่วันนี้อุปสรรคใหญ่ระบบขนส่งสาธารณะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือการมีรถโดยสารประจำทางไม่เพียงพอ สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากเพจรถเมล์จำนวนมาก ทั้งการลดจำนวนรถเมล์ที่วิ่ง การให้สัมปทานบริษัทเอกชนเดินรถ แต่เอกชนกลับไม่ได้จัดรถวิ่งตามสัญญา  ขณะที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ก็ไม่ได้จัดการเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้นสภาผู้บริโภคอยากให้รัฐบาลทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้กลุ่มคนที่อยู่นอกเมือง ไม่ได้อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าก็สามารถมีรถเมล์เดินทางเข้าสู่เมืองได้

“การไม่มีระบบขนส่งสาธารณะจากหน้าบ้านเดินทางเข้าสู่เมือง ประชาชนไม่มีทางเลือกก็ยังใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่ดี สภาผู้บริโภคเห็นด้วยกับการเก็บภาษีรถติดเมื่อรัฐบาลมีบริการขนส่งมวลชนที่ดี อีกทั้งราคาค่าโดยสารต้องไม่แพงเกินไป เพื่อทำให้คนตัดสินใจเก็บรถยนต์ส่วนตัวไว้ที่บ้าน”

เมื่อถามถึงการทำให้เมืองที่อยู่อาศัยมีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยนั้น สารี เห็นว่า จากปัญหาการจราจรแออัด ปี 2566 พบว่า มีคนไทยเจ็บป่วยกว่า 10 ล้าน ประเทศไทยยังแก้ปัญหาฝุ่น P.M.2.5 ไม่ได้เลย ฉะนั้นทางหนึ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน

“แนวทางการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหารถติดของรัฐบาล และการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่กระตุ้นให้ประชาชนเข้ามาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น อีกทางเลือกที่สภาผู้บริโภคเสนอ คือ รัฐบาลสามารถยกเลิกโครงการก่อสร้างทางด่วนซ้อนชั้นที่สอง (Double Deck) ที่ใช้งบประมาณกว่า 3.4 หมื่นล้านบาทได้ และนำงบฯ นี้มาจัดหารถเมล์ EV บริการประชาชนทั่วประเทศ ไม่เฉพาะกรุงเทพมหานคร  ซึ่งจะสามารถซื้อรถเมล์ EV ได้ถึง 8 พันคัน”

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้สภาผู้บริโภคเตรียมจัดเวทีดึงรถไฟฟ้าทุกสายขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ และนำประเด็นแนวคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เข้าหารือกับอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค เพื่อออกความเห็นต่อสาธารณะต่อไป  เบื้องต้นหากรัฐบาลมีการจัดบริการขนส่งสาธารณะ ค่ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสายที่ทุกคนขึ้นได้จริงในเดือนกันยายน 2568 มีความเป็นไปได้ ที่ระยะยาวรัฐต้องมาคิดเรื่องแหล่งเงิน หากไม่จัดเก็บภาษีรถติดก็ต้องหาเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน คนก่อมลพิษต้องร่วมจ่ายภาษีน้ำมัน  เป็นต้น เพื่อนำไปใช้สนับสนุนบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้จริง