เตือนผู้บริโภคอย่าเผลอวางใจมิจฉาชีพมาในมุกใหม่ แปลงตัวเป็นผู้ว่าจ้างล่อเหยื่อด้วยการให้งานดีๆ พร้อมผลตอบแทนงามๆ หลังจากตีสนิทแล้วจึงปล่อยมุกชวนเทรดหุ้นจนท้ายสุดสูญเงินล้าน
ตัวอย่างล่าสุดคือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ทำเนื้อหาเผยแพร่บนแอปพลิเคชันติ๊กต่อก (TikTok) หรือที่เรียกกันว่า ‘ดาวติ๊กต่อก’ ได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยใช้รูปแบบการหลอกลวงชักชวนถ่ายคลิปวิดีโอ และจ่ายค่าตอบแทนให้ต่อเนื่อง จนเกิดความไว้วางใจกัน หลังจากนั้นก็ชวนลงทุนเทรดหุ้นที่เสนอผลตอบแทนถึงร้อยละ 60 สุดท้ายต้องเสียเงินถึง 3.5 ล้านบาท (อ้างอิง: https://bit.ly/3PaCWib)
ก่อนหน้านี้ มีข่าวมิจฉาชีพออกลายสร้างกลลวงแพรวพราว เช่น การที่บุคคลมีชื่อเสียงหรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก ๆ ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดนจ้างให้รับงานโฆษณา หรือขายของออนไลน์ หรือเผยแพร่คลิปที่อาจมีลิงก์อันตรายแฝงไป ซึ่งบางครั้งตัวบุคคลมีชื่อเสียงเหล่านั้นตกเป็นตัวต่อของมิจฉาชีพที่วางกับดักให้เกิดการกระจายลิงก์อันตรายไปยังผู้บริโภคอื่นๆ ที่เป็นผู้ติดตามข่าวสารจากผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้น สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
สภาผู้บริโภคจึงชวนผู้บริโภคมาศึกษากลโกงของมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ เพื่อการรู้เท่าทันและป้องกันตนเอง ที่เป็นไปตามขั้นตอนเหล่านี้
– ทักมาหาชวนทำภารกิจแล้วจะได้ค่าตอบแทน
– เมื่อเหยื่อหลงกลก็ชวนลงทุนโดยอ้างว่าจะได้กำไรมากกว่าทำภารกิจ และชักชวนลงทุนโดยโฆษณาว่าได้รับผลตอบแทนสูง
– หลอกให้สมัครลิงค์ในโปรแกรม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการโอนเงินผ่านระบบลิงค์
– หลอกเหยื่อลงทุนและให้กำไร เพื่อให้เหยื่อหลงกล
– อ้างว่าเหยื่อทำผิดระเบียบขั้นตอน จึงไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อเสียภาษีและค่าธรรมเนียม
– เมื่อเหยือขอเงินต้นคืนจะอ้างเรื่องรอเสียภาษี และค่าธรรมเนียม และได้พยายามโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มอีก
– รู้ตัวอีกทีเสียเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว
นอกจากนี้ควรมีการป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกลวงลงทุนออนไลน์ ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้รวบรวมวิธีปฏิบัติไว้ดังนี้
1. อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจลงทุน หากมีความสนใจควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
2. ตรวจสอบก่อนลงทุน โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริงและไม่มีเจตนาหลอกลวง โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านโดยตรวจสอบได้ที่ www.sec.or.th/licensecheck หรือผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First
3. ห้ามฝากเงินหรือโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะบุคคลที่มาชักชวนลงทุน หรืออ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลงทุน
4. สังเกตสัญญาณเตือนภัยกลโกงจากข้อเสนอการลงทุน เช่น ลักษณะผลตอบแทนที่ดูดีเกินไป รับประกันผลตอบแทน เร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุน ดึงดูดใจด้วยสินทรัพย์ใหม่ ๆ เป็นต้น
แต่หากหลงกลมิจฉาชีพไปแล้ว ต้องรีบรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการร้องเรียน
1. สำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
2. หลักฐานแสดงความเสียหาย เช่น สลิปการโอนฝากเงินลงทุน บัญชีของมิจฉาชีพ เป็นต้น
3. หลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น เขียนรายงานอธิบายเหตุการณ์ที่เกิด ภาพแคปช่องแชทบทสนทนากับมิจฉาชีพและข้อมูลอื่นๆที่ผู้ร้องเห็นว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานแนบได้ เป็นต้น
โดยผู้บริโภคสามารถแจ้งดำเนินคดีได้กับสถานีตำรวจในพื้นที่และแจ้งตำรวจไซเบอร์ได้ทางเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/ หรือโทร 1441
หรือร้องเรียนเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่ทาง สภาฯ จะดำเนินการประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 3215 หรือ 081 134 3216
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค
สุดท้ายฝากเตือนภัยการชักชวนทางออนไลน์เรื่องการเทรดหุ้นต้องดูว่ามีตัวตนจริงและประกอบธุรกิจจริงหรือไม่ การจะลงทุนหลายหมื่นหลายล้าน ต้องตรวจสอบให้ดี ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ