เปิดเส้นทางเบี้ยยังชีพ สู่การผลักดัน ‘บำนาญถ้วนหน้า’

ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2548 และในปี 2566 ประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ โดยประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวนเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด

จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า เกินครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง  และหากวัดจากรายได้และเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวจะพบว่ามีเพียง 26.3% ที่มีเงินออมไม่เพียงพอ และผลสำรวจยังสะท้อนอีกว่าผู้สูงอายุจะพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในระยะยาว มีแนวโน้มเป็นโสดและอาศัยโดยลำพังมากขึ้น สวนทางกับแนวโน้มเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง ขาดลูกหลานให้พึ่งพา อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบไปแล้วในปัจจุบัน แต่ผู้สูงอายุกลับมีลักษณะ ‘แก่ก่อนรวย’ รายได้ไม่พอกับการยังชีพ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2535 จึงได้มีการกำหนดให้การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นแบบสงเคราะห์ คือจ่ายให้เฉพาะคนยากจน จนปี 2553 ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปลี่ยนหลักการสำคัญของการจ่ายเบี้ยยังชีพให้เป็นการจ่ายแบบสวัสดิการถ้วนหน้า โดยจ่ายในอัตราคนละ 500 บาท และในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการเพิ่มอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 500 บาท มาเป็นแบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาท

ในสังคมไทยปัจจุบันมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น การให้ผู้สูงอายุแบบเบี้ยยังชีพแม้จะเป็นแบบขั้นบันไดก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตพื้นฐานในแต่ละวัน และอาจถูกยกเลิกได้หากไม่มีงบประมาณรัฐมาสนับสนุน แต่หากมีการยกระดับการจ่ายเบี้ยยังชีพเปลี่ยนไปเป็นกฎหมายบำนาญถ้วนหน้า ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน จะสร้างความมั่นคงต่อผู้สูงอายุได้จริงในแง่รายได้ และเมื่อเป็นกฎหมายก็ไม่มีความเสี่ยงที่อาจโดนรัฐบาลตัดงบประมาณได้

ดังนั้นเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการผลักดันร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติและเดินหน้าล่ารายชื่อประชาชนอย่างน้อยจำนวน 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อผลักดันกฎหมายในการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีการปรับปรุงและแก้ไขจากร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฉบับเดิม โดยกฎหมายนี้จะแก้จากสงเคาะห์เป็นถ้วนหน้ามีหลักการพื้นฐานสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. แนวคิดการทำเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแนวคิดสงเคราะห์ ที่มีการจ่ายเบี้ยยังชีพมาตั้งแต่ปี 2535 และเริ่มจ่ายในปี 2536 โดยจะเปลี่ยนจากแบบสงเคราะห์เป็นแบบสวัสดิการถ้วนหน้า 2. เมื่ออายุครบ 60 ปี ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการบำนาญ 3. ต้องจัดสวัสดิการให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในอัตราไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คือ 3,000 บาท และ 4. จัดตั้งสำนักงานกองทุนผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ธุรการและวิชาการให้กับกองทุน และกำหนดวิธีการบริหารจัดการกองทุนผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ

ในอนาคตหากรัฐเดินหน้าจ่ายสวัสดิการแบบบำนาญแทนการจ่ายแบบเบี้ยยังชีพจะทำให้เกิดความยั่งยืน ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งหากยังเป็นแบบเบี้ยยังชีพ รัฐบาลสามารถยกเลิกได้หากไม่มีงบประมาณ แต่หากจัดเป็นระบบบำนาญที่มีกฎหมายรองรับรัฐบาลจะยกเลิกได้ยากกว่า

นอกจากนี้ การให้เงินสวัสดิการในระบบบำนาญถ้วนหน้าจะสามารถสร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจและทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชาติได้ จากข้อมูลการวิเคราะห์ของ ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หากรัฐจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุทุกคนด้วยเงิน 4.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี จะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 7 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 4.17% จึงเป็นสิ่งที่มีความชัดเจนว่าการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการให้ผู้สูงอายุมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจถึง 5 รอบ ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชาติได้ด้วยและยังไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการเปลี่ยนผ่านมาจนถึงรัฐบาลยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลนี้ควรทำให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้ในยามชรา เนื่องจากการให้เบี้ยผู้สูงอายุตามขั้นบันไดอาจยังไม่เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และรัฐบาลในยุคเศรษฐาจะเดินไปอย่างไรกับสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

เปิดเส้นทางเบี้ยยังชีพ สู่การผลักดัน บำนาญถ้วนหน้า

ปี 2535 สวัสดิการให้กับผู้สูงอายุที่ยากจน อายุ 60 ปีขึ้นไป 200 บาท ต่อเดือน ต่อคน

ปี 2542  ปรับจำนวนเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้น เป็น 300 บาท ต่อเดือน ต่อคน

ปี 2544  เพิ่มเงื่อนไขเป็นผู้สูงอายุมีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ถูกทอดทิ้ง ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ โดยเบี้ยยังชีพคงเดิม 300 บาท ต่อเดือน ต่อคน

ปี 2549 ปรับเพิ่มจำนวนเงินเป็น 500 บาท ต่อเดือน ต่อคน เนื่องจาก เริ่มมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ปี 2553 มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ในอัตรา 500 บาท ต่อเดือน ต่อคน มีการแก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ สามารถเริ่มดำเนินนโยบายขยายเบี้ยยังชีพเพื่อให้ครอบคลุมแก่ผู้สูงอายุทุกคนอย่างถ้วนหน้า ในอัตรา 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีสัญชาติไทย อยู่ในภูมิลำเนาของเขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ

ปี 2555 – 2566 มีการปรับอัตราเบี้ยยังชีพจากอัตราคงที่เป็นแบบขั้นบันได

อายุ 60 – 69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท ต่อเดือน ต่อคน

อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท ต่อเดือน ต่อคน

อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท ต่อเดือน ต่อคน

อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 1,000 บาท ต่อเดือน ต่อคน

ผลักดันเสนอร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ เข้าส่รัฐสภา เพื่อบำนาญผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า สามารถลงรายชื่อออนไลน์ได้ที่ www.pension-4all.com หรือสามารถโหลดแบบฟอร์ม และลงรายมือ ได้ในลิงก์นี้ https://shorturl.asia/KnmXQ หรือลิงก์นี้ https://shorturl.asia/qWwDS 

พิมพ์ (Print) แบบฟอร์มลงชื่อสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กรอกแบบฟอร์ม เว้นตรงวันที่ไว้ ยังไม่ต้องกรอก “ไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน”

ส่งไปรษณีย์มาที่: เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 48/282 ซ.รามคำแหง104 ถ.รามคำแหง แขวง/เขต สะพานสูง กรุงเทพฯ 10240

มาร่วมผลักดันร่างกฎหมายที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุรวมถึงตัวเราที่ในอนาคตจะแก่ตัวลงไปมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปด้วยกันนะ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค