สภาผู้บริโภคร่วมกับแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) เปิดช่องทางให้องค์กรหรือภาคประชาชนที่เป็นเครือข่ายของติ๊กต็อก หรือ Community partner channel (CPC) ส่งเรื่องร้องเรียนหากพบเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค อาทิ การโฆษณาเกินจริง การโฆษณาอาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย การสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเว็บการพนันออนไลน์หรือหลอกลงทุน เป็นต้น และจะมีการตรวจสอบแก้ไข รวมถึงการนำออกจากแอปฯ ภายใน 72 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่ของสภาผู้บริโภคได้อบรมการแจ้งวิดิโอเนื้อหาไม่เหมาะสมผ่านระบบสำหรับการรายงานปัญหาข้างต้นที่มีการปรับปรุงใหม่อย่าง TikTok Safety Enforcement Tool (TSET) รวมถึงการเรียนรู้การใช้ระบบและแชร์ข้อมูล ของหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guidelines) ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอเชิญชวนชาวติ๊กต็อกเกอร์ (TikToker) ทั้งหลาย ร่วมสอดส่องและหากพบเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิหรือเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริดภคสามารถแจ้งเบาะแสเข้ามาที่อินบ็อกซ์เฟซบุ๊กของเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือโทรเข้ามาได้ที่เบอร์ 1502 วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. สภาผู้บริโภคพร้อมขับเคลื่อนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตัวแทนจากแอปพลิเคชันติ๊กต็อก และผู้บริหารสภาผู้บริโภค ได้มีการหารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคผ่านแอปพลิเคชัน ด้วยการเพิ่มการตรวจสอบผู้ขายให้รัดกุม ส่งเสริมผู้ขายจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เสนอให้เปิดสินค้าก่อนจ่ายเงินได้ รวมทั้งมีตัวกลางถือเงินของลูกค้าไว้ 5 วัน (Escrow Payment) ก่อนโอนเงินให้ร้าน
ในขณะนั้นนั้นติ๊กต็อกได้ให้ช่องทางพิเศษสำหรับสภาผู้บริโภคสำหรับการเป็นช่องทางหุ้นส่วนชุมชน ที่เมื่อพบเนื้อหาที่ต้องการให้ตรวจสอบ เช่น การขายสินค้าที่ใช้คำโฆษณาเกินจริง สามารถแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับทีมติ๊กต็อกเพื่อจะตรวจสอบและแก้ไขให้ รวมถึงการนำออกจากแอปฯ ภายใน 72 ชั่วโมง (อ้างอิงข่าว : https://www.tcc.or.th/tccnews-tccxtiktok_240866/)