จับตาโฆษณาแฝง! สภาผู้บริโภคจี้ กสทช. คุมเข้มรายการสื่อบนทีวี – วิทยุ

วิกฤติโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง – โฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ – วิทยุ – ออนไลน์ สภาผู้บริโภคเรียกร้อง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและกำกับดูแลเชิงรุก พร้อมเสนอให้ดาราและอินฟลูเอนเซอร์ตรวจสอบข้อมูลก่อนรับงานโฆษณา ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค

กังวลการโฆษณาเกินจริง – ผิดกฎหมาย แพร่ระบาดในสื่อทุกช่องทาง

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งปัจจุบันกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้งในสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และช่องทางออนไลน์ การกระทำดังกล่าวไม่เพียงเป็นการหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภค แต่ถือว่าผิด ตามกฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.ศ. 2558 เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

สื่อดังถูกตั้งคำถาม บทบาทในการสร้างความเข้าใจผิด

สุภิญญา ยกกรณีล่าสุดของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยระบุว่ามีสื่อโทรทัศน์หลายรายการ เช่น ‘ตี 10’ ‘คุยแซ่บ Show’ และ ‘ทูเดย์โชว์’ ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงบทบาทในการเป็นต้นเหตุของความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการโฆษณาแฝง การนำเสนอเนื้อหาที่เสมือนเป็นคอนเทนต์จริง แต่แท้จริงแล้วเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด

“การกระทำของผู้มีอิทธิพลทางความคิดในรายการเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะมีผู้บริโภคที่หลงเชื่อและเข้าไปลงทุนกับบริษัทนี้เป็นจำนวนมาก” นางสาวสุภิญญา กล่าว และย้ำถึงความหละหลวมของ กสทช. ในการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์

เรียกร้อง กสทช. ตรวจสอบเชิงรุก

สภาผู้บริโภค จึงเรียกร้องให้ กสทช. มีบทบาทที่เข้มแข็งขึ้นในการเฝ้าระวังเชิงรุก ตรวจสอบและกำกับดูแลการออกอากาศ โดยเฉพาะรายการโทรทัศน์และวิทยุที่อาจมีการโฆษณาแฝง (Tie-in) อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงปรับปรุงแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจว่าเนื้อหารายการใดเป็นโฆษณา และเนื้อหารายการใดเป็นเนื้อหาจริง รวมถึงการแจ้งแนวปฏิบัติเหล่านี้ให้กับช่องโทรทัศน์หรือรายการต่าง ๆ นำไปปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดการระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาที่อาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สภาผู้บริโภค ยังเสนอให้ กสทช. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ดารา – อินฟลูเอนเซอร์ ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนรับงานโฆษณา

ประธานอนุกรรมการฯ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงบทบาทของสมาคมโฆษณาและสมาคมผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยดาราและอินฟลูเอนเซอร์ที่รับงานโฆษณาควรตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อป้องกันผลกระทบทางกฎหมายและสังคม

“นอกจากเรื่องการโฆษณาขายตรง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ที่ผ่านมาเราพบว่ามีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคและเด็กผ่านสื่อโฆษณาต่าง ๆ รวมถึงการนำเด็กมาใช้ในการโฆษณาเกินความเหมาะสม ถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิของเด็กอย่างชัดเจน” นางสาวสุภิญญา กล่าว

สื่อออนไลน์ก็ไม่พ้นต้องเฝ้าระวัง

ในส่วนของการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์และบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อโน้มน้าวผู้บริโภค ซึ่งมักมีการโฆษณาเกินจริงในลักษณะเดียวกัน จึงเสนอให้มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมในวงการโฆษณา เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคในทุกช่องทาง