ระวังแพ้! อย่าลืมทดสอบครีมที่ผิวก่อนใช้

จากกรณีที่เฟซบุ๊กแฟนเพจเพจหมอแล็บแพนด้า ออกมาแนะนำให้ทุกคนลองทดสอบครีมกับผิวหนังก่อนว่าแพ้หรือไม่ หลังช่วงที่ผ่านมามีคนที่แพ้ครีมกำจัดขน โดยเขาระบุอีกว่า ผลิตภัณฑ์ครีมกำจัดขนมีตัวยาเป็นด่างสูง ไม่ควรทาค้างไว้บนผิวหนังนาน ๆ เพราะอาจทำลายผิวหนังได้ อย่างไรก็ตามควรทาตามระยะเวลาที่บอกไว้ในฉลาก และคนที่แพ้ครีมง่ายควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังอยู่เสมอ แต่หากเผลอใช้ไปแล้วมีผื่นขึ้น ควรหยุดใช้และรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนังทันที (อ้างอิง : https://bit.ly/40yonZ6)

วันนี้สภาผู้บริโภค ชวนทุกคนมาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบครีมก่อนใช้ โดยข้อมูลจากช่อง RAMA Channel และเว็บไซต์พรเกษมคลินิกได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทดสอบการแพ้ครีมหรือเครื่องสำอาง โดยแบ่งออกเป็นการทดสอบใน 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

1) วิธีการทดสอบเบื้องต้นด้วยตัวเอง ที่เรียกว่า ‘Use Test’

สามารถทดสอบได้โดยการทาครีมที่ต้องการทดสอบไว้ที่ใต้ท้องแขน โดยใช้ผลิตภัณฑ์มาทดสอบขนาดเท่าเหรียญ 10 บาท ทาทั้งเช้า – เย็น ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หากบริเวณใดที่เกิดอาการบวมแดง อาจจะเป็นไปได้ว่ามีอาการแพ้ครีมดังกล่าว จึงไม่ควรนำมาใช้ แต่หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หลังการทดสอบก็แสดงว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถตัดสินว่าจะไม่แพ้ครีมดังกล่าวเมื่อนำมาทาที่ใบหน้า

2) วิธีการทดสอบทางผิวหนังด้วย ‘Patch Test’ เพื่อหาสารหรือส่วนประกอบที่คน ๆ นั้นอาจจะแพ้

วิธีการทดสอบการแพ้ได้แม่นยำที่สุด ทดสอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังโดยตรง โดยนำสารที่มักพบบ่อยว่าแพ้และครีมที่สงสัยใส่หลุม และนำมาแปะที่หลังด้านบนและปิดพลาสเตอร์ทับ อ่านผลใน 2 วันถัดมา และอ่านผลครั้งที่ 2 ในอีก 2 วันถัดมา ก็สามารถบอกได้ว่าแพ้สารตัวใดและคุณก็สามารถตรวจดูได้จากสลากผลิตภัณฑ์ได้ว่า มีสารประกอบที่คุณแพ้ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่คุณต้องการจะใช้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ครีม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งที่ได้ปฏิบัติตามวิธีใช้ คำแนะนำ หรือข้อควรระวังตามที่ระบุบนฉลากแล้ว หรือไม่เป็นไปตามข้อความที่โฆษณา ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการและขอใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นหลักฐานว่าอาการแพ้เกิดขึ้นจากครีมที่ใช้

จากนั้นรวบรวมหลักฐานการสั่งซื้อ การโฆษณาของร้านค้า รูปภาพอาการแพ้ รวมถึงใบรับรองแพทย์ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เบอร์สายด่วน 1166 เพื่อให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

หรือหากพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้างตามโฆษณา สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556 หรือร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้


อ้างอิง :
https://bit.ly/3I4Zld3,
https://bit.ly/3DLbXmQ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค