สภาผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. รายงานความคืบหน้าการกำกับมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังควบรวมกิจการ ทั้งเน็ตบ้าน AIS กับ 3BB และค่ายมือถือ ทรู กับ ดีแทค เน้นติดตาม แก้ไขปัญหาคุณภาพสัญญาณ – ราคาแพ็กเกจ แนะสำรวจความเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพ ราคาค่าบริการ พร้อมหนุนเพิ่มทางเลือกให้เกิดผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหม่
เรียกร้อง กสทช. แจงความคืบหน้าตรวจสอบหลังควบรวม
หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ลงมติอนุญาตควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือเอไอเอส (AIS) กับบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB พร้อมกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือก่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันนั้น
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวในการประชุมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB ในแง่มุมของการคุ้มครองผู้บริโภค จัดโดยคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ว่า กรณีการควบรวมกิจการระหว่าง AIS และ 3BB มีลักษณะเดียวกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ที่คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อการควบคุมการให้บริการหลังการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่ขณะนี้ผู้บริโภคกลับไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนของกระบวนการตรวจสอบหรือการกำกับดูแลจาก กสทช. จนส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบัน
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ชี้แจงความคืบหน้าของการติดตามตรวจสอบการควบรวมกิจการระหว่าง AIS และ 3BB รวมถึงกรณีการควบรวมค่ายมือถือระหว่างทรูและดีแทค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามเงื่อนไขพิเศษหรือมาตรการเฉพาะที่ถูกกำหนดไว้ และขอให้มีการรายงานคุณภาพสัญญาณในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยอิงตามฐานข้อมูลทางสถิติและวิทยาศาสตร์เพื่อให้เห็นถึงแนวโน้มการให้บริการ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคถึงปัญหาสัญญาณที่ไม่เสถียรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“กสทช. จำเป็นต้องออกมารายงานความคืบหน้าของการกำกับดูแลการให้บริการของ AIS และ 3BB และการควบรวมกิจการโทรคมนาคมอื่น ๆ โดยให้ข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับการติดตาม ตรวจสอบ กำกับดูแลคุณภาพสัญญาณและแพ็กเกจการให้บริการ เพื่อสร้างความโปร่งใสและลดความกังวลของผู้บริโภค เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่เห็นการดำเนินการที่ชัดเจนจาก กสทช. ในขณะที่ปัญหาการให้บริการกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางสาวสุภิญญา เน้นย้ำ
นอกจากนี้ กสทช. ควรสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในด้านราคาและคุณภาพการให้บริการ รวมถึงการพิจารณามาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคและกำกับดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ส่วนในระยะยาว กสทช. ควรส่งเสริมการขยายและส่งเสริมให้เกิดบริการโทรคมนาคมรายใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของอินเทอร์เน็ตบ้านและบริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการใช้บริการ เพราะหากปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการควบคุมหรือไม่มีการสนับสนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้บริโภคในอนาคต
กตป. ระบุอยู่ระหว่างจัดทำรายงานติดตามการควบรวมเน็ตบ้าน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปัจจุบัน กตป. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานจำนวน 2 เล่ม ได้แก่ การศึกษามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคโดยทั่วไปของ กสทช. และ การติดตามความคืบหน้าและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB และการติดตามการดำเนินการของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปี 2568 และหลังจากจะมีการแจ้งไปยัง กสทช. รัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในปี 2566 กตป. ได้จัดทำรายการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หัวข้อ เงื่อนไข/มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TUC) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTN) โดยพบประเด็นที่สำคัญ คือ กสทช. ต้องมีการปฎิรูปการพิจารณาการควบรวบธุรกิจใหม่ให้เป็นมาตรฐาน โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์การพิจารณาตามกฎหมายในต่างประเทศที่จะต้องนำมาตรการไปจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ประชาชน ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ร่วมกันวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นผ่านมุมมองต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และยังคงต้องมีการกำกับติดตามให้ทรูและดีแทคปฏิบัติตามข้อกังวลและเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้ครบถ้วนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามแนวทางของคณะกรรมการ กสทช. ที่กำหนดไว้หลังอนุญาตให้ควบรวมกิจการ
ด้าน นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการ กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า จากข้อมูลของผู้แทน กสทช. ที่นำเสนอในที่ประชุมถึงประเด็นการควบรวมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านข้างต้น พบว่า แม้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบเงื่อนไขของการควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านและมีการจัดประชุมแล้ว แต่คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ กลับมีระยะเวลาการดำเนินการเพียงไม่ถึงหนึ่งปีและกำลังจะหมดวาระลง ขณะที่คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขหลังการควบรวมไว้ถึง 5 ปี อาทิ การไม่ขึ้นราคา การคงราคาไว้เช่นเดิม เป็นต้น ดังนั้น จึงตั้งข้อสังเกตว่าหากคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้หมดวาระลงแล้วและจะมีผู้ใดเป็นผู้ตรวจสอบการเงื่อนไขเฉพาะหลังการควบรวมนี้ เพราะหากไม่มีผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเฉพาะ ผู้บริโภคอาจถูกละเมิดสิทธิได้