สภาผู้บริโภคสนับสนุนกระทรวงดีอีเอส เร่งออกกฎหมายพิเศษให้ธนาคารคืนเงินผู้บริโภคที่ถูกหลอกออนไลน์โดยเร็ว หยุดปัญหาหลอกลวงจากอาชญากรรมออนไลน์ ผู้บริโภคถูกเยียวยาเร็วขึ้น
ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวถึงการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินหรือความเสียหายทางการเงินที่เกิดจากมิจฉาชีพออนไลน์ ด้วยการยกระดับมาตรการในการจัดการบัญชีม้าและเพิ่มมาตรการป้องกันในการโอนเงินที่มีความเข้มข้นขึ้น เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมานั้น แต่ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค และองค์กรสมาชิก 263 องค์กร มีความเห็นร่วมกันว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ
โดยวันนี้ (5 กรกฎาคม 2567) กมล กมลตระกูล ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาผู้บริโภคพร้อมองค์กรสมาชิก เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอีเอส : MDES) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกกฎหมายพิเศษหรือปรับปรุงกฎหมายหรือออกมาตรการให้สถาบันการเงินผู้รับฝากเงินคืนเงินฝากในบัญชีให้แก่ผู้ฝากเงินนั้นโดยทันที เมื่อได้รับแจ้งจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือศูนย์ AOC สายด่วน 1441 หรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้วว่าเงินที่หายจากบัญชีเกิดจากภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ตามสัญญาฝากเงินในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ที่บัญญัติไว้ว่า
ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน อนึ่งผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตามผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น
สรุปได้ว่าธนาคาร คือ ผู้ให้บริการทางด้านการเงิน มีหน้าที่ในการรับฝากเงินและดูแลเงินของผู้บริโภค โดยเงินที่ฝากนั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร หากเงินหายออกไปจากบัญชี ธนาคารจึงถือเป็นผู้เสียหายและธนาคารต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ผู้บริโภคฝากเงินไปเท่าไหร่ก็ต้องได้เงินคืนไปเท่านั้น
“หากพิจารณาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นจะเห็นว่าธนาคารถือเป็นผู้เสียหาย และตามความเป็นจริงแล้วธนาคารต้องเป็นคนดำเนินการต่าง ๆ คือ อายัดบัญชี แจ้งความ รวมถึงการพิสูจน์การกระทำผิด และติดตามความคืบหน้า แต่ปัจจุบันพบว่าปัญหาเหล่านั้นถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภค เพราะธนาคารปัดความรับผิดชอบและโยนความเสียหายให้ผู้บริโภค ดังนั้น หากเปลี่ยนผู้เสียหายเป็นธนาคารจะทำให้ธนาคารพยายามพัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียหาย” กมล กล่าว
จากข้อมูลเผยแพร่ของ ธปท. ที่พบว่าจำนวนคดีหลอกลวงออนไลน์สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 เกิดคดีออนไลน์ 400,000 คดี และอีก 6 เดือนต่อมา มีคดีการหลอกลวงออนไลน์สูงขึ้นมากกว่า 500,000 คดี ปัจจุบันพบมูลค่าความเสียหายสะสม 63,000 ล้านบาท โดยมีทั้งรูปแบบการหลอกลวง อาทิ หลอกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกให้ลงทุน หลอกทำงานเสริม ซึ่งประธานอนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาในการดำเนินการมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของธนาคาร เช่น การงดส่งข้อความแนบลิงก์ จัดการบัญชีม้าในระบบ จัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วนสำหรับลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อ ที่อาจสะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของธนาคารที่ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้เสียหายลดลง แต่กลับเกิดจำนวนผู้เสียหายที่ไม่ได้รับการเยียวยาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีมูลค่าความเสียหายที่สูงมากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของ ธปท. จะกำหนดให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้ให้บริการเป็นผู้พิสูจน์ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ว่าเหตุเกิดจากความผิดพลาดหรือบกพร่องของธนาคารหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาธนาคารมักอ้างว่าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดหรือบกพร่องของธนาคาร และ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กำหนดให้ผู้ฝากเงินในบัญชีธนาคารที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์เป็นผู้เสียหายที่จะต้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อระงับธุรกรรมทางการเงินชั่วคราวอีกด้วย จะเห็นว่าภาระเหล่านี้กลายเป็นภาระที่ผู้บริโภคต้องแบกรับ
“จำนวนความเสียหายและมูลค่าความเสียหายที่ผู้บริโภคถูกหลอกลวงมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และปัญหาทั้งหมดก็เป็นภาระของผู้ฝากต้องดำเนินการเองเมื่อเงินหายจากบัญชี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ที่จะทำให้ผู้ฝากเงินที่ถูกหลอกลวงได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์และสูญเงินในบัญชีที่ได้พยายามเรียกร้องให้ธนาคารคืนเงินกลับเข้าบัญชี แต่ก็ถูกธนาคารปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่ใช่ความผิดพลาดของธนาคาร จึงทำให้สภาผู้บริโภคต้องช่วยเหลือด้วยการฟ้องเป็นคดีกับธนาคารไปแล้ว 14 คดี รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 5.5 ล้านบาท” กมล ระบุ