ยังมีเจ้าของรถยนต์จำนวนแสนกว่ารายที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนน จากการที่ใช้รถยนต์ที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย ยี่ห้อทาคาตะบกพร่องที่สามารถเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้หากมีอุบัติเหตุ แม้มีการรรณรงค์และมีผู้บริโภคนำรถยนต์เข้ามาเปลี่ยนถุงลมอย่างต่อเนื่อง สภาผู้บริโภคได้ตั้งเป้าหมายลดความเสี่ยงจากถุงลมนิรภัยให้เหลือศูนย์ จึงเสนอ 5 มาตรการต่อกรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์เพื่อเร่งรัดการแจ้งเตือนและส่งข้อมูลให้เข้าถึงผู้ใช้รถยนต์ที่ยังไม่ได้เปลี่ยน ‘ถุงลมนิรภัยทาคาตะ’
จากกรณีที่สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทรถยนต์ออกมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาหลังพบเหตุการณ์ถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะระเบิด จนทำให้มีผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 3 ราย และเสียชีวิตอย่างน้อย 4 รายในสองสามปีที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด นิสรา แก้วสุข ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค ระบุว่า ในวันที่ 2 เมษายน 2567 กรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ 8 บริษัท ได้ร่วมกันจัดทำและเปิดใช้งาน “ระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัย” เมื่อมีการต่อทะเบียนและภาษีรถยนต์ ในสำนักงานขนส่งทั่วประเทศและผ่านระบบชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ (DLT -Service) อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่าในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากออกระบบแจ้งเตือนภัยข้างต้น สามารถแก้ไขปัญหาการให้ผู้บริโภคนำรถยนต์ไปเปลี่ยนได้เพียง 9,354 คันเท่านั้น หรือปัจจุบันยังเหลือรถยนต์อีกจำนวน 552,954 คัน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567) ที่ยังคงมีความเสี่ยงได้รับอันตรายวิ่งอยู่บนท้องถนน
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ยังไม่เปลี่ยนถุงลมนิรภัยมาจากหลายสาเหตุ อาทิ อาจเป็นรถที่อยู่ในเต๊นท์รถยนต์มือสอง หรือผู้ที่นำรถมาต่อทะเบียนกับสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ และอาจไม่ได้นำข้อมูลไปแจ้งเจ้าของรถ ทำให้เจ้าของรถยังคงใช้รถที่มีถุงลมนิรภัยอันตรายอยู่
นิสรามีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า หากประเทศไทยสามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ “เลมอน ลอว์” (lemon law) จะทำให้ผู้ผลิตสินค้ามีความระมัดระวังในการผลิต ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าชำรุดได้
“ถุงลมนิรภัยก็เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ประเภทรถยนต์ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวังในการผลิตหรือซื้อชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันปัญหาภาระการพิสูจน์ ตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่จะต้องฟ้องคดีและพิสูจน์ความเสียหายชำรุดเองว่าเกิดจากความบกพร่องของเครื่องยนต์ ไม่ใช่จากการใช้งาน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ควรเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญ มากกว่าผู้บริโภคต่างหาก ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้าที่คุณผลิตนั้นได้คุณภาพมาตรฐานตลอดระยะเวลาหนึ่งปีหรือสองปี” นางสาวนิสรา ระบุ
อย่างไรก็ตาม นางสาวนิสรา ระบุอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบก ทำให้ทราบว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลสำหรับฝึกอบรมพนักงานในเรื่องการกรอกข้อมูลผู้มาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง และสามารถนำไปอัปเดตได้อย่างรวดเร็วและกรมการขนส่งฯ ได้สอบถามไปที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งสมาคมฯ เห็นด้วยกับแนวคิดที่ให้สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) (เหมือนเขียนไม่ครบ) และมีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องให้อบรม ตรอ. ในการเก็บข้อมูลของเจ้าของรถยนต์ให้ครบถ้วนและถูกต้องก่อนนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ
ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาได้มีการส่งข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่จำนวนผู้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สภาผู้บริโภคจึงได้ทำข้อเสนอเชิงมาตรการถึงกรมการขนส่งทางบก เพื่อเร่งให้กำจัดถุงลมนิรภัยอันตรายออกจากท้องถนน ดังนี้
1. ขอให้กรมการขนส่งทางบกออกประกาศให้รถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัย ต้องดำเนินการนำรถยนต์เข้าเปลี่ยนถุงลมนิรภัยก่อนต่อภาษีรถยนต์ในปีถัดไป และกำหนดให้ ตรอ. เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยด้วย
2. ขอให้กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ช่วยนำเงินรายได้จากการประมูลทะเบียนรถเลขสวยของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนจากรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ที่ปลอดภัยเพิ่มเติม
3. ขอให้กรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ 8 บริษัท สร้างความมั่นใจต่อระบบแจ้งเตือน เพื่อความปลอดภัยอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ระบบสามารถติดตามได้ว่ารถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยและได้แจ้งต่อเจ้าของรถยนต์ที่มาติดต่อ ให้ประสานไปยังศูนย์รถยนต์ และ ตรอ. เพื่อลงทะเบียนจองคิวเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เพื่อเก็บข้อมูลจำนวนรถยนต์ที่มาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
4. ขอให้กรมการขนส่งทางบกหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในเรื่องการเตรียมปริมาณสินค้าคงคลังในกลุ่มอะไหล่ถุงลมนิรภัยที่ได้มาตรฐานให้เหมาะสมเพียงพอ เพื่อรองรับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยในอัตราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการจัดการปัญหาในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยของขนส่งทางบกและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ช่วยกันสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ เมื่อบริษัทมีระบบจองคิวและรับจองคิวแล้วจะสามารถประเมินยอดแนวโน้มปริมาณการใช้ได้เบื้องต้น ทำให้เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปติดต่อเปลี่ยนที่ศูนย์บริการ จะได้รับการเปลี่ยนอะไหล่ทุกคันตามนัดหมาย เพื่อลดปัญหาอะไหล่ไม่เพียงพอและลดโอกาสที่จะเกิดการฟ้องเรียกร้องความเสียหายจากการไปเข้าศูนย์บริการแล้วไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ทำให้เสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะเจ้าของรถยนต์ในฐานะผู้บริโภคที่ต้องลางานเพื่อเดินทางนำรถยนต์มาเปลี่ยนในพื้นที่อื่นซึ่งห่างไกลจากบ้านมากกว่าปกติ
5. ขอให้กรมการขนส่งทางบกจัดทำและเปิดเผยแผนประชาสัมพันธ์เตือนภัยอย่างทันสถานการณ์ โดยเฉพาะกรณีที่มีการเรียกคืนถุงลมโดยสมัครใจของผู้ประกอบการที่บริษัทสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งมีบริษัทที่ดำเนินการธุรกิจในไทย ควรดำเนินการเรียกคืนโดยทันที ไม่ปกปิดข่าวสารข้อเท็จจริง และเปิดเผยเป็นสาธารณะ
ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการตรวจสอบรุ่นรถยนต์ ว่าต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ www.checkairbag.com หรือติดต่อที่ศูนย์บริการรถยนต์ทุกสาขา หรือติดต่อสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ารถยนต์เข้าข่ายต้องเปลี่ยน สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ เพื่อนำเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหากพบว่าถูกเรียกเก็บค่าบริการหรือถูกปฏิเสธไม่ให้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย สามารถแจ้งมาที่สภาผู้บริโภคตามช่องทาง ดังนี้
ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
อีเมล : [email protected]
โทรศัพท์ : สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค