มติเอกฉันท์! สภาผู้บริโภคทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันภัยยุคดิจิทัล

ที่ประชุมสภาผู้บริโภค สมัยสามัญ ครั้งที่ 1/2567 มีมติเห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ยกระดับการดูแลสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น

หลังจากที่ได้มีการประชุมองค์กรสมาชิก 245 องค์กรจาก 319 องค์กร อย่างเข้มข้มด้วยข้อมูลด้านกฎหมายและประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับมติจากองค์กรสมาชิกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับใหม่ เพื่อขยายสิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัลจาก 5 ข้อ เป็น 10 ข้อ และปรับอำนาจหน้าที่ของกรรมการเพื่อให้ดำเนินการสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทั้งนี้ เป็นการลงมติในการประชุมสภาผู้บริโภค สมัยสามัญ ครั้งที่ 1/2567  ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต พร้อมกันนั้น ได้มีการมอบรางวัลองค์กรผู้บริโภคดีเด่นให้กับ 14 องค์กร และได้ร่วมพิจารณาญัตติจากองค์กรสมาชิกผู้บริโภคที่เสนอจำนวน 15 ญัตติ

การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ ได้แก่ การรับรองรายงานงบดุล งบการเงิน และบัญชีของสภาองค์กรของผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ 2566 การพิจารณาคัดเลือกบริษัทฯ เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของสภาผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภคกำหนดให้เป็นอำนาจของที่ประชุมสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นผู้แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … เพื่อปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัย และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันสิทธิผู้บริโภคไทยถูกกำหนดไว้เพียง 5 ข้อขณะที่สิทธิผู้บริโภคสากลมี 8 ข้อ อีกทั้งสิทธิที่มีอยู่ 5 ข้อนั้นล้าสมัยและไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคมปัจจุบัน จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคไทยจาก 5 ข้อเป็น 10 ข้อ เพื่อให้ครอบคลุมและทันสมัยมากขึ้น ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 5. สิทธิที่จะได้รับความรู้เพื่อการบริโภคอย่างเท่าทัน และได้รับการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตในฐานะผู้บริโภค

6. สิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน และการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย  7. สิทธิที่จะรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค องค์กร สมาคม หรือมูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า 8. สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค 9. สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และ 10. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

นอกจากนี้ยังมีมติรับทราบ การให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงานของสมาชิกในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคปีงบประมาณ 2567 รายงานผลการดำเนินงานโครงการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นและพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภคประจำปีงบประมาณ 2566 และรายงานการประเมินผลการดำเนินงาน 3 ปี ตามมาตรา 17 

ทั้งนี้ ในการประชุมมีการเสนอญัตติจากองค์กรสมาชิก จำนวน 15 ญัตติ ซึ่งมีทั้งประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค งานนโยบาย เฝ้าระวัง เตือนภัย การพัฒนาศักยภาพและสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิก ระเบียบ/ข้อบังคับของสภาผู้บริโภค ประเด็นเรื่องงบประมาณ รวมถึงการทำงานของสำนักงานสภาผู้บริโภค เช่น สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เสนอเรื่องขยายสิทธิผู้บริโภคไทยเป็น 8 ข้อแบบสิทธิผู้บริโภคสากล เนื่องจากปัญหาที่พบกับผู้บริโภคของไทยไม่แตกต่างจากของสากล ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดชลบุรี เสนอญัตติเกี่ยวกับ พัฒนาศักยภาพให้ความรู้กับสมาชิกเพื่อเฝ้าระวังในการถูกละเมิดและการโฆษณาเกินจริง เมื่อมีการร้องเรียนมายังศูนย์ฯ พร้อมแนะนำช่องทางการดำเนินการและติดตามผล ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคตำบลเชียงใหม่ เสนอเรื่องการแก้ไขปํญหาเรื่องหนี้ในชุมชน เนื่องจากปัจจุบันพบประชาชนมีปํญหาเรื่องหนี้มากมาย ซึ่งต่อให้ภาครัฐลงมาช่วยแก้ไขก็อาจยังช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง เป็นต้น

ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 กำหนดให้สภาผู้บริโภค ต้องจัดให้มีการประชุมสมาชิกและผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์แก่การคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศรางวัลองค์กรผู้บริโภคดีเด่น โดยมีองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับรางวัลจำนวน 14 องค์กร ได้แก่ 1) เครือข่ายวิทยุนักสื่อสารชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ 2) องค์กรผู้บริโภคตำบลละลม จังหวัดหวังศรีสะเกษ 3) ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 4) ศูนย์สุขภาพสานใจ ตำบลแม่อ้อ จังหวัดเชียงราย 5) ชมรมโกลบอลแคมปัส เชียงใหม่ 6) องค์กรผู้บริโภคอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย 7) ชมรมใจเขาใจเรา จังหวัดเชียงใหม่

8) คณะทำงานผักปลอดภัย บ้านห้วยงูกลาง จังหวัดเชียงใหม่ 9) เครือข่ายองค์กรชุมชน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 10) ชมรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (ช.อ.บ.) เขตเมืองเชียงใหม่ 11) ชมรมผู้สูงอายุชุมชนบ้านใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 12) เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี 13) เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล และ 14) เครือข่ายผู้หญิงรักษ์สุขภาพ ตำบลสันป่าม่วง จังหวัดพะเยา

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค