หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศปลดล็อกกัญชาและกัญชงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา เราก็เห็นเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา จำหน่ายอยู่ในร้านค้าต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งตามตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น จำเป็นต้องได้รับการควบคุม เพราะการได้รับสาร ทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol : THC) ในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา จึงเข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในมาตรา 31 กำหนดว่ากิจการเหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนเริ่มดำเนินกิจการ
แต่ไม่นานมานี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้รับข้อมูลมาว่า พบตู้ ‘กาแฟผสมกัญชา’ แบบหยอดเหรียญ ติดตั้งอยู่ในตลาดแห่งหนึ่ง และคาดเดาว่าน่าจะมีอีกหลายแห่ง โดยไม่ได้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อ้างข้อกฎหมายใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2558 ข้อ 3 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งที่ระบุว่า กิจการเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม น้ำดื่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น หากอยู่ในสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาต
คำถามคือ หากไม่มีการขออนุญาต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเครื่องดื่มในตู้ดังกล่าวจะมีปริมาณสารทีเอชซีตามที่กำหนดในประกาศกรมอนามัย (อ่านประกาศได้ที่ : ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565) ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เครื่องดื่มที่ซื้อมาจากตู้ดังกล่าวนั้นปลอดภัย และหากมีกรณีที่ผู้บริโภคซื้อกาแฟผสมกัญชาจากตู้ดังกล่าวมาดื่ม แล้วเกิดอาการแพ้หรือได้รับความเสียหาย จะสามารถร้องเรียนได้ที่ไหน และใครเป็นผู้รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สอบ.ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับ เช่น ขาดการติดตามตรวจสอบและรายงานเรื่องผลกระทบอย่างเป็นระบบ ไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา เป็นต้น (อ่านข่าวได้ที่ : ข้อห่วงใยถึง รมว.สธ. กรณีปลดล็อกกัญชา ชี้ อาหารผสม ‘กัญชา’ อันตราย) ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำแคมเปญให้ผู้บริโภคที่สนใจมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมกัญชาในอาหารให้ติดป้ายประกาศหน้าร้าน ว่า “ร้านนี้ไม่มีกัญชา” ส่วนร้านที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมควรติดป้ายบอกให้ชัดเจนว่ามีการใช้กัญชา รวมถึงแจ้งข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาด้วย (ร่วมโหวตกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่นี่ เห็นด้วยหรือไม่ ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีส่วนผสมกัญชาในอาหารให้ติดป้ายประกาศหน้าร้าน ว่า “ร้านนี้ไม่มีกัญชา”)