ของมันต้องมี แต่..มีแล้วไม่ตรงปก! ผิดไซส์! ชำรุด! หมดอายุ! ทำอย่างไรดี ?
ยุคนี้หลายคนซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องไปที่หน้าร้าน แต่ปัญหาของออนไลน์ก็คือเราจะไม่ได้เห็นของก่อน จึงทำให้หลายครั้งพบข่าวที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าที่ไม่ถูกต้องบ้าง ผิดสี ผิดไซส์บ้าง ดังนั้น การให้จ่ายเงินปลายทางและสามารถเปิดของดูก่อนจ่ายเงินได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีทีเดียว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายดังกล่าว หากผู้บริโภคประสบพบเจอกับเหตุการณ์ที่ได้รับของที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากแนะนำให้ดำเนินการตามขั้นตอนข้างล่างนี้ได้เลย
อันดับแรก | เก็บข้อมูล รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่มี ทั้ง
ใบสั่งซื้อสินค้าหรือคำสั่งซื้อสินค้า
ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า
หลักฐานการชำระเงิน
ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน
ต่อมา | ติดต่อผู้ขาย
กรณีซื้อแล้วพบปัญหาทันที หรือพบหลังจากนั้นไม่เกินระยะเวลาเงื่อนไขการคืนที่ผู้ขายระบุ ให้รีบดำเนินการส่งคืนสินค้าหรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไข หรือคืนเงิน โดยทำตามขั้นตอนที่ร้านค้าแจ้งไว้
กรณีพ้นกำหนดระยะเวลาการรับประกันของผู้ขาย ให้ดูว่ามีใบรับประกันตัวสินค้าหรือไม่ เพราะสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จะมีการรับประกันโดยผู้ผลิตสินค้า ให้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตโดยตรง
ท้ายสุด | หากร้านค้าไม่รับผิดชอบ ติดต่อก็ไม่ได้เลย ให้ผู้บริโภคนำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน และร้องเรียนได้กับหน่วยงานหรือองค์กร ดังนี้
ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA สายด่วน 1212 (Online Complaint Center) ตลอด 24 ชั่วโมง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) โทรศัพท์ 02 248 3734 ถึง 37 อีเมล : [email protected]
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สายด่วน 1166 อีเมล : [email protected]
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องร้องเรียนปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องสำอางไม่ได้มาตรฐาน สายด่วน 1556 อีเมล: [email protected]
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) อีเมล : [email protected] หรือ
inbox Facebook : สภาองค์กรของผู้บริโภค
การซื้อสินค้าออนไลน์ควรซื้อผ่านเว็บไซต์ที่มีการจดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ มีเครื่องหมาย DBD Register ที่สามารถสังเกตเห็นได้ และ ร้านค้ายังต้องจดทะเบียนผู้ทำการตลาดแบบตรงและวางหลักประกันตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2560 ที่ สคบ. กำหนดอีกด้วย
นอกจากนี้ ก่อนจะซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคอาจจะลองเช็กประวัติผู้ขายว่าเคยโกงเงินมาหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์ Blacklistseller ที่เป็นศูนย์กลางการตรวจสอบการฉ้อโกงออนไลน์
#ช้อปออนไลน์ #ซื้อของออนไลน์ #สินค้าออนไลน์ #ของไม่ตรงปก #ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค