สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอแนวทางลดผลกระทบหมูแพง พร้อมระบุ หากนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งต้องมาจากแหล่งผลิตปลอดสารเร่งเนื้อแดง
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคคงได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสื่อสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเนื้อหมูไปยังต่างประเทศ และการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู รวมไปถึงการปกปิดข้อมูลการระบาดจนทำให้การจัดการปัญหาล่าช้าและไม่ทันการณ์ กระทั่งหมูทั้งระบบมีน้อยลง
ขณะที่ สอบ. มองว่าทางออกของผู้บริโภคในวิกฤตราคาหมูครั้งนี้มีความซับซ้อนอยู่ในระดับหนึ่ง แม้ว่าข้อเสนอระยะสั้นที่หลายฝ่ายเห็นว่าอาจมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวจากต่างประเทศ เนื่องจากปริมาณเนื้อหมูมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ รวมทั้งยังมีราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
แต่การนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งดังกล่าวนั้นจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนและสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น (อ่าน สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ 5 ทางแก้ ‘หมูแพง’ ต่อที่ : https://bit.ly/3FQUO9u)
ทั้งนี้ สอบ. มีข้อเสนอ ‘แนวทางลดผลกระทบจากเนื้อหมูราคาแพงต่อผู้บริโภค’ ดังต่อไปนี้
- นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวแบบมีเงื่อนไขจากแหล่งผลิตที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น
- ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board)
- ผลักดันท้องถิ่นให้สนับสนุนเกษตรรายย่อยเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ
- ผู้บริโภคร่วมมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ หรือ หมูหลุม เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และ
- สนับสนุนการวิจัยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และเพิ่มการผลิตโปรตีนจากพืชที่มีราคาถูกกว่า และมีส่วนในการลดโลกร้อน