ครั้งแรกของการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 24 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. การเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาเสนอความคิดเห็น นโยบาย ดูแลงบประมาณ รวมถึงจัดการบริหาร “กองทุนประกันสังคม” เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคมในทุก ๆ เดือน เช็กสิทธิการเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
สภาผู้บริโภคได้รวบรวมและคัดเลือกนโยบายใน 8 เรื่องหลัก ๆ ของ 6 ทีม (ประกันสังคมก้าวหน้า, 3 ขอต้องไปต่อ, เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน, สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, คณะกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย) โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากช่องทางออนไลน์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้ประกันตนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนไปเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในทีมที่มีนโยบายโดนใจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน
เริ่มจากประเด็นร้อนแรงที่ผู้ประกันตนมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง คือ ประเด็นสิทธิทางทันตกรรม มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้งหมด 3 ทีมที่ชูเรื่องสิทธิทันตกรรม โดยนโยบายแตกต่างกันออกไป ดังนี้ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า จะมีการปรับสิทธิทันตกรรมและรักษารากฟันเทียม ให้การใช้สิทธิสามารถเชื่อมโยงได้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่ายได้ 17,500 บาท ตลอดการรักษา, ทีม 3 ขอต้องไปต่อ ปรับสิทธิทันตกรรมเทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ปรับสิทธิทันตกรรมเทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเพิ่มจำนวนเงินจาก 900 บาทต่อปีเป็น 1,500 บาทต่อปี แต่ในปัจจุบันสิทธิด้านทันตกรรมผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินเพิ่ม เนื่องจากการใช้สิทธิทำฟันต่าง ๆ ในบางรายมีค่าบริการที่สูงกว่าสิทธิประกันสังคมที่ได้รับมา อีกทั้งค่าบริการทันตกรรมในคลินิกเอกชนยังมีราคาที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การผ่าฝันคุดที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเพิ่ม เนื่องจากค่าบริการสูงกว่า 900 บาท ขณะที่สิทธิข้าราชการหรือสิทธิบัตรทองกลับไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา
ขณะที่ในประเด็นสิทธิรักษาพยาบาลทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทั้งหมด 4 ทีมที่ชูเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า, ทีม 3 ขอต้องไปต่อ, ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน, ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) โดยปัจจุบันให้สิทธิคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยทั่วไป เช่นอาการป่วยต่าง ๆ หรือเมื่อประสบอุบัติเหตุ โดยผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกันตนพบปัญหาโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมมีข้อจำกัดในการเลือก บางรายได้โรงพยาบาลที่ไกลไม่สะดวกในการไปรักษาและรอนาน ดังนั้นหากมีสิทธิรักษาพยาบาลทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ผู้ประกันตนจะได้รับความรวดเร็วและปลอดภัยจากการเจ็บป่วย โดยไม่ต้องไปเพียงโรงพยาบาลที่เลือกไว้เท่านั้น
ประเด็นเงินสมทบบำนาญ มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้งหมด 6 ทีมที่ชูเรื่องบำนาญ โดยมีนโยบายที่แตกต่างกัน ดังนี้ ได้แก่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้มีการปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม, ทีม 3 ขอต้องไปต่อ การคำนวณบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมกับทุกมาตราและเลือกบำเหน็จหรือบำนาญได้, เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน แก้ไขกฎระเบียบเงินบำนาญชราภาพ, ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) เพิ่มเงินบำนาญไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน, ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เลือกบำเหน็จหรือบำนาญได้ เพิ่มบำนาญไม่น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน, ทีมคณะกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ 30% ของฐานเงินเดือน
ส่วนในประเด็นการผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลประกันสังคมนั้นมีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทั้งหมด 3 ทีมที่ชูเรื่องการสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมของผู้ประกันตน ได้แก่ ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน, ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย โดยทั้ง 3 ทีมมีความคิดเห็นว่าการผลักดันโรงพยาบาลประกันสังคมให้เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นหลักประกันให้กับผู้ประกันตนเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกันตนได้เข้าไปใช้สิทธิตามโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ในประกันสังคม แต่ไม่ได้รับความสะดวกในการรักษา อาทิ รอนานทั้งขั้นตอนก่อนรักษา และรับยา การรักษาที่ไม่ตอบโจทย์ รวมถึงการต้อนรับที่ไม่ดีจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
วันลาคลอดบุตรและค่าคลอดบุตร มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้งหมด 2 ทีมที่ชูเรื่องวันลาคลอดบุตรและค่าคลอดบุตร ได้แก่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน เพิ่มค่าคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง, ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน เพิ่มเงินทดแทนค่าคลอดบุตร 20,000 บาท
ในส่วนของประเด็นใหม่ที่มีหลายทีมชูประเด็นนี้ขึ้นมา คือ การสร้างธนาคารประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้งหมด 4 ทีมที่ชูเรื่องการสร้างธนาคารประกันสังคม ได้แก่ ทีม 3 ขอต้องไปต่อ, ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน, ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นธนาคารเฉพาะกิจของคนทำงานและเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้ผู้ประกันตนไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ
อีกประเด็นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในประกันสังคมคือการทำให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระเพื่อความโปร่งใส มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทั้งหมด 4 ทีมที่ตั้งตนเป็นองค์กรอิสระเพื่อความโปร่งใส ได้แก่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า, ทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, ทีมคณะกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นองค์กรที่โปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้
ทั้งนี้ การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนได้ใช้สิทธิเลือกตัวแทนในการเสนอนโยบายเพื่อผู้ประกันตน รวมถึงยังจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้กองทุนประกันสังคมได้รับการพัฒนาทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ นโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งคุณภาพของผู้ประกันตนก็จะยิ่งดีขึ้น กองทุนประกันสังคมมีความโปร่งใส และเปิดเผยได้ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ล้าหลังก็จะได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย