การจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม

สภาองค์กรผู้บริโภค ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคู่มือ “การจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม” เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ต้องโดยสารรถรับส่งนักเรียน และให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติที่ดีได้ด้วยตนเอง

เด็กนักเรียนทุกคนจำเป็นต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ นับตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครองมาส่ง การเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ การโดยสารรถโดยสารสาธารณะ และการโดยสารรถโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นรถที่โรงเรียนจัดบริการให้ หรือมีบุคคลที่นำรถส่วนตัวมาลงทุนดำเนินการเป็นรถรับส่งนักเรียน โดยรับเด็กนักเรียนจากบ้านหรือจากชุมชนมาส่งที่โรงเรียนและรับกลับไปส่งให้ถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลรถโรงเรียนที่จัดทำโดย ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกภูมิภาค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า รถโรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ นอกจากนี้ยังพบความเสี่ยงจากคนขับรถ ทั้งการขับรถเร็ว การรับเด็กนักเรียนจำนวนมากเกินกว่าที่นั่งในรถไปจนถึงการลืมเด็กทิ้งไว้ในรถ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้

ประเด็นสำคัญคือ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อปกป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการโดยสารรถโรงเรียนอยู่หลายฉบับ และมีหน่วยงานหลักที่เป็น “เจ้าภาพ” กำกับดูแลการใช้กฎหมายชัดเจน แต่สภาพปัญหาดังกล่าวก็ยังดำเนินซํ้ารอยเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการช่วยกำกับดูแล ขณะที่กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ขับรถโรงเรียนขาดความเข้าใจเรื่องการป้องกันหรือมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ที่กำหนดไว้

ดังนั้น การเดินทางมาโรงเรียนของเด็กนักเรียนในแต่ละวันจึงยังมีความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งที่สามารถป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค โดย ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในภาคต่าง ๆ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พัฒนาระบบจัดการรถโรงเรียนภายใต้ โครงการขับเคลื่อนการเข้าถึงและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ได้ข้อมูลและบทเรียนอย่างรอบด้าน จนสามารถสังเคราะห์ให้เป็นชุดความรู้ที่แสดงระบบการจัดการรถโรงเรียนที่ดี และเป็นที่มาของการจัดทำคู่มือ “การจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม” เล่มนี้ เพื่อให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติที่ดีได้ด้วยตนเอง

หวังว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้นำความรู้จากคู่มือเล่มนี้ไปปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับปัญหาและความท้าทายในแต่ละโรงเรียนและชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ “อนาคตของชาติ” ให้ก้าวพ้นจากสภาพปัญหานี้ได้อย่างเท่าทันสถานการณ์