สภาผู้บริโภคชวนดูข้อมูลสำหรับไว้ใช้ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการให้ปลอดภัยตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้และบริโภคและคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกคำสั่งและบังคับใช้ออกมา โดยมีสินค้าห้ามขายจำนวน 16 รายการ และบริการที่มีคำสั่งออกมาให้งดบริการ จำนวน 1 บริการ
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ระบุว่า ผู้ใดประกอบธุรกิจหรือผู้ใดขายสินค้าที่คณะกรรมการสั่งห้ามขาย แก่ผู้บริโภคตามมาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับถึง 5 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เพราะสินค้านั้นอาจเป็นอันตราย และถ้าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นผู้ผลิตเพื่อขาย หรือเป็นผู้สั่งหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ผู้บริโภคที่ยังพบสินค้าห้ามขาย หรือบริการที่ถูกงดตามคำสั่ง สคบ. สามารถแจ้งไปที่ สคบ. ที่เบอร์สายด่วน 1166 หรือทางออนไลน์ได้ที่ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภคได้ที่ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=warning
ของเล่นชนิดพองตัวเมื่อแช่น้ำ หรือ ตัวดูดน้ำ (ตัวดูดน้ำ น้ำตานางเงือก หรือเบบี้คริสตัล) คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2527 มีผลบังคับใช้เมื่อ 8 พ.ย. 2527 : เป็นสินค้าที่อันตรายต่อเด็กเล็ก หากเด็กเผลอกลืนเข้าไปจะทำให้ตัวดูดน้ำพองตัวในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรง หรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 6/2529 มีผลบังคับใช้เมื่อ 29 ก.ค. 2529 : กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย หากถือจับวัตถุสื่อไฟฟ้าสัมผัสกับน้ำที่ต้ม
ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ หรือ ลูกโป่งพลาสติก หรือ blowing balloon คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2548 มีผลบังคับใช้เมื่อ 21 ธ.ค. 2548 : ของเล่นปนเปื้อนสารละเหย
เครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรง คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 4/2550 มีผลบังคับใช้เมื่อ 17 ก.ค. 2550 : น้ำที่ผ่านการอัดกระแทกโดยตรงผ่านกระบอกสูบนั้น มีความแรงขนาดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
สารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิค คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2550 มีผลบังคับใช้เมื่อ 4 ต.ค. 2550 : มีคนไข้มีปัญหาจากการได้รับการฉีดสารที่ใช้ในวิธีไบโอเทคนิค และยังไม่กําหนดเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในประเทศไทย
เครื่องเล่นล่องแก่ง ชื่อ “อินเดียน่า ล็อก” (Indiana Log) ในสวนสยาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 11/2550 มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 ต.ค. 2550 : มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้บริการ
เครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นเครื่องประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำ คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 14/2551 มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ส.ค. 2551 : มีเหตุอันน่าเชื่อว่าสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำ เป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค
ภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นการชั่วคราว คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 15/2551 มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ส.ค. 2551 : มีเหตุอันน่าเชื่อว่าสินค้าภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อเป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค
อุปกรณ์ไฟฟ้าช็อตสําหรับแกล้งคน คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 5/2556 มีผลบังคับใช้เมื่อ 17 มิ.ย. 2556 : อุปกรณ์ดังกล่าวมีแรงดันไฟฟ้าที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอวัยวะของร่างกายได้
บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสําหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 มีผลบังคับใช้เมื่อ 28 ม.ค. 2558 : พบสารเคมีที่เป็น อันตรายต่อร่างกายหลายชนิด
อุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2561 มีผลบังคับใช้เมื่อ 30 ม.ค. 2561 : มีสารปนเปื้อนซึ่งเป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว พลวง ซีลีเนียม โครเมียมและสารหนู
อุปกรณ์เสริมจมูกแบบไม่ถาวร คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 2/2563 มีผลบังคับใช้เมื่อ 29 พ.ค. 2563 : การใช้อุปกรณ์นี้อาจทำให้เกิดแผลภายในจมูกและ เกิดการอักเสบติดเชื้อได้
บัตรพลังงาน คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 3/2563 มีผลบังคับใช้เมื่อ 29 พ.ค. 2563 : มีสารกัมมันตรังสี ชนิดแร่ยูเรเนียม และทอเรียมเป็นองค์ประกอบ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
ลูกโป่งบรรจุก๊าซไฮโดรเจน คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 4/2563 มีผลบังคับใช้เมื่อ 29 พ.ค. 2563 : อุบัติเหตุจากลูกโป่งบรรจุก๊าซไฮโดรเจนระเบิด ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สิน
*สินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 5/2563 มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ม.ค. 2564 : การใช้รังสี UVC ในระบบเปิด หรือผู้บริโภคได้สัมผัส/กระทบรังสี UVC โดยตรง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และเป็นอันตรายต่อดวงตา
*งดให้บริการฆ่าเชื้อโรคด้วยอุปกรณ์ที่มีรังสี UVC คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 6/2563 มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ม.ค. 2564 : การใช้รังสี UVC ในระบบเปิด หรือผู้บริโภคได้สัมผัส/กระทบรังสี UVC โดยตรง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และเป็นอันตรายต่อดวงตา
*หมายเหตุ : มีการยกเว้นเป็นการเฉพาะ สำหรับสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ตามคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ตั้งแต่ปี 2564 จนถึง 30 มีนาคม 2566 เรื่อง ยกเลิกการห้ามขายสินค้าหรืออุปกรณ์ที่มีรังสี UVC ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบสินค้าแต่ละยี่ห้อที่จำหย่ายได้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา https://ratchakitcha.soc.go.th/search-result