ในยุคที่แอปพลิเคชันเข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้ว หลายคนอาจเผลอโหลด ‘แอปกู้เงินเถื่อน’ ที่ดูเหมือนจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่รู้หรือไม่? แอปเถื่อนเหล่านี้อาจกลายเป็นกับดักที่ทำให้คุณเสียทั้งเงิน ดอกเบี้ยมหาโหด และข้อมูลส่วนตัว!
ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับความเสียหายหลายรายที่ถูกหลอกลวง ทั้งการคุกคามด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย ปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลของผู้ใช้งาน สภาผู้บริโภคจึงชวนมารับมือกับแอปฯ กู้เงินเถื่อนเหล่านี้ หากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อไปแล้ว เราจะมีวิธีจัดการปัญหานี้อย่างไรบ้าง
ตกเป็นเหยื่อแอปเงินกู้เถื่อนทำไงดี?
- มีสติตอนถูกทวงเงิน ซึ่งเจ้าหนี้ก็ต้องทำตามกฎหมายหากต้องการทวงเงินด้วย คือ เจ้าหนี้ติดต่อทวงถามหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์และวันหยุดราชการจะทวงหนี้ได้ในเวลา 08.00 – 18.00 น. นอกจากนี้ เจ้าหนี้ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือห้ามประจานลูกหนี้
- หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านข้อความหรือรับโทรศัพท์จากแอปฯ กู้เงินเถื่อนที่มาทวงหนี้
- หยุดก่อหนี้เพิ่ม และติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443
- เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก
- แจ้งสายด่วน 1559 หรือสายด่วนของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์ เพื่อกู้คืนหรือแก้ไขบัญชีให้ถูกต้อง
- ติดตามข่าวสารและเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ที่ภาครัฐจัดขึ้น
วิธีแจ้งความและป้องกันตัวแบบง่ายๆ
- ทำบัตรประชาชนใหม่ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำบัตรใบเดิมไปแอบอ้างทำธุรกรรมต่าง ๆ
- รวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย
- รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์
- ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน
- หลักฐานการแช็ต
- แจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด รวมถึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานไปยังตำรวจไซเบอร์ (บก.สอท.)
หากผู้บริโภคพบปัญหาถูกแอปฯ กู้เงินเถื่อนเข้ามาคุกคามหรือทวงหนี้ สามารถเข้ามาปรึกษาและร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคเพื่อ ร้องเรียน ร้องทุกข์ ออนไลน์ ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อีเมล : [email protected]
- สายด่วน : 1502
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
วิธีสังเกตแอปเงินกู้เถื่อน ก่อนที่ข้อมูลส่วนตัวจะตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ
- จะมีลักษณะให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวนตามกู้ เช่นอ้างว่าหักเป็นค่าดำเนินการ หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า แต่ผู้กู้ยังต้องชำระเต็มจำนวน
- คิดดอกเบี้ย ค่าปรับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
- ระยะเวลาการชำระคืนสั้น มีการทวงหนี้แบบข่มขู่ คุกคาม
- ตรวจสอบแอปฯ เงินกู้ที่ถูกกฎหมาย ที่ได้รับอนุญาตจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ https://www.bot.or.th/th/license-loan.html