ร้านค้าออนไลน์ในเฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส ปลอดภัยจริงหรือไม่?

จากกรณีข่าวตำรวจไซเบอร์ ใน จ.อยุธยา รวบคนร้ายที่ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘สอยสุด หยุดไม่อยู่’ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงคดี โดยคนร้ายมีพฤติกรรมหลอกขายอะไหล่รถยนต์ ให้เหยื่อโอนเงินแต่ไม่ส่งของให้ หรือส่งของไม่ตรงปก และใช้ช่องทางการขายผ่านพื้นที่ซื้อขายสินค้าบนเฟซบุ๊ก (Facebook Marketplace) โดยคนร้ายใช้บัญชีธนาคารเป็นบัญชีรับโอนเงินจากผู้เสียหาย และใช้หมายเลขโทรศัพท์ 08-3826-5044 และ 08-2237-9350 ในการโทรติดต่อหลอกลวงผู้เสียหาย

ซึ่งตำรวจได้แจ้งข้อหา “ฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

แม้ในปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิด และเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำผิด รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ ทั้งการกำหนดให้ร้านค้าต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ขายและที่ตั้งของร้านค้า หรือการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2560 แต่ร้านค้าออนไลน์ (E-Marketplace) และร้านค้าบนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ กลับยังไม่ได้จดทะเบียนดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าจะต้องตรวจสอบอย่างไรจึงถูกโกงออนไลน์ได้ง่าย หลายคนก็ไม่ได้นำเรื่องการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจซื้อเพราะไม่ทราบกฎหมายในส่วนนี้จึงทำให้ยังคงมีผู้ได้รับความเสียหายอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีหลอกขายอะไหล่รถยนต์ข้างต้น อีกทั้งผู้เสียหายมักไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา เนื่องจากไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดได้

          เนื่องจากการซื้อของออนไลน์ยังคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไม่มีประสิทธิภาพ สภาผู้บริโภคจึงมีคำแนะนำต่อผู้บริโภคว่า ในเบื้องต้นหากผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผ่านเฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส (Facebook Marketplace) ต้องประเมินว่ามีความเสี่ยงโดนหลอก หากร้านค้าเรียกร้องการชำระเงินล่วงหน้า ผู้บริโภคมีโอกาสสูงที่ไม่ได้สินค้าตามการชำระเงิน เช่น การให้สั่งสินค้าแล้วโอนเงินรวมค่าส่งเลย แต่สุดท้ายไม่ได้รับของ และหากผู้ขายให้ทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น ให้ทักไปในไลน์จนมีการซื้อขายในไลน์ คนขายอาจเชิดเงินแล้วบล็อกหนีได้ หรือผู้บริโภคต้องทำใจเจอสินค้าปลอม เนื่องจากไม่สามารถเช็กหรือเห็นสินค้าได้จนภายหลังรับสินค้า จึงเกิดกรณีปลอมสินค้าขายออนไลน์กันเกลื่อน ส่วนร้านใดที่ให้มีการโอนมัดจำก่อน ผู้บริโภคก็อาจเสี่ยงโดนเชิดมัดจำแล้วไม่ได้สินค้าเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำก่อนการตัดสินใจโอนเงินคือตรวจสอบชื่อบัญชีและเช็กประวัติร้านค้าก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันโดนโกงซื้อ ของออนไลน์

ซึ่งช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ที่สามารถเช็กประวัติผู้ขายได้หากทำตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ตรวจสอบประวัติการซื้อขายของผู้โพสต์ขายสินค้า
  2. ดูความน่าเชื่อถือของเพจ รีวิวจากผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการกดรีแอคชั่น (เช่น หากพบการกดโกรธในเพจขายสินค้านั้น ๆ จำนวนมาก อาจเป็นไปว่าเข้าข่ายเป็นที่ต้องระวังและไม่ควรซื้อสินค้ากับเพจนั้น)
  3. ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบเลขบัญชีของผู้ขายก่อนว่ามีชื่ออยู่ในรายการคนโกงหรือไม่ โดยนำชื่อ – นามสกุลของผู้ขาย หรือเลขบัญชีธนาคาร หรือเบอร์พร้อมเพย์ ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่าผู้บริหารเฟซบุ๊กมาเก็ตเพลส ควรออกมาตรการที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เบื้องต้นให้ร้านค้าทุกร้านจดทะเบียนก่อนเปิดขาย หรือให้มีการตรวจสอบเชิงรุกกับทุกร้านค้าที่ได้พื้นที่ขาย หรือการออกกฎให้ผู้บริโภคสามารถยกเลิกการชำระเงินกับเจ้าของร้านโดยตรงหากสินค้าไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เช่น เปลี่ยนระบบการชำระเงินเป็นแบบผ่านตัวกลาง ตัวอย่างเช่น Shopee , Lazada หรือ การมีระบบระงับบัญชีผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมไม่ซื่อตรงต่อลูกค้า หรือ บัญชีม้า ให้ระงับได้อย่างรวดเร็ว หรือไม่อนุมัติโฆษณาการขายสินค้าของเหล่าเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นมิจฉาชีพ และออกมาตรการตรวจสอบและแก้ไขให้รัดกุมอาจทำให้ลดการโกงของมิจฉาชีพลงได้

         แต่สุดท้าย หากผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เช่น สั่งของแต่ไม่ได้รับของ ร้านบล็อกหนี หรือได้รับของไม่ตรงตามที่สั่งไป แนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. แจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ‘ขอให้ดำเนินคดีถึงที่สุด’ อย่าทำเพียงแค่ลงบันทึกประจำวัน หรือแจ้งความออนไลน์ที่นี่ https://thaipoliceonline.com/ หรือติดต่อไปที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441
  2. สามารถร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับของภาครัฐที่ https://complaint.ocpb.go.th  
  3. ถ้ามีเลขบัญชีธนาคารของร้านค้าหรือผู้ขาย แจ้งธนาคารโดยเร็วที่สุด ขอให้อายัดเงินและระงับบัญชีปลายทาง (ขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องมีใบแจ้งความ ถ้าธนาคารถามหา อ้างอิง ‘พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี’ ได้)
  4. สามารถฟ้องร้องกับศาลแพ่ง ในคดีซื้อขายออนไลน์ ได้ 24 ชั่วโมง คลิกลิงก์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling/#/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

หรือร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค