แม้ปัจจุบันผู้บริโภคในเมืองใหญ่หลายรายมักเลือกซื้อคอนโดมิเนียมมากกว่าบ้าน เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางหรือราคา ซึ่งปัญหาที่พบตามมาจากการซื้อคอนโด ได้แก่ ปัญหาห้องที่ได้รับไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือพบปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญาไม่เป็นธรรม ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อคอนโดสักห้องหนึ่ง สภาผู้บริโภคจึงอยากชวนทุกคนตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ 5 ข้อนี้ ดังนี้
1. ศึกษารายละเอียดโครงการและลงพื้นดูสถานที่จริง
การตรวจสอบข้อมูลโครงการ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่าโครงการมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่น เป็นโครงการของบริษัทอะไร หรือประวัติการดำเนินการในอดีตเป็นอย่างไร โครงการเหล่านั้นพบปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ และควรลงไปดูสถานที่จริง เพื่อดูทำเล สภาพแวดล้อม การเดินทาง หรือหากโครงการก่อสร้างเสร็จแล้วจะได้เห็นห้องของจริงเลย ว่าเป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่
2. ตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาจอง
เนื่องจากสัญญาจองไม่มีกฎหมายเฉพาะควบคุม เหมือนสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนั้นควรศึกษาข้อสัญญาหรือข้อตกลงให้ครบถ้วน ว่าข้อสัญญาตรงกับที่พนักงานขายแจ้งหรือไม่ เช่น กรณียื่นเอกสารกู้แล้วธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ทั้งหมด จะมีเงื่อนไขการคืนเงินจองอย่างไร หรือหากพนักงานขายแจ้งโปรโมชั่น หรือของสมนาคุณอะไรก็ตาม ต้องแจ้งให้พนักงานระบุไว้ในสัญญาด้วย
3. สัญญาจะซื้อจะขายต้องเป็นไปตามกฎหมาย
สัญญาจะซื้อจะขาย นอกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะมีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาแล้ว ยังมีแบบสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด หรือแบบ อ.ช. 22 ของกรมที่ดิน ที่กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การให้ระบุรายละเอียดข้อมูลห้องชุด เงื่อนไขการบอกเลิกสัญญา หรือการรับประกันความเสียหาย นอกจากนี้ ประกาศของ สคบ.มีการกำหนดเพิ่มเติมในส่วน ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น ข้อกำหนดที่ยกเว้นความรับผิดที่เกิดจากความผิดของผู้ประกอบธุรกิจ หรือ จำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความชำรุดบกพร่อง
4. ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ให้ตรวจสอบห้องให้เรียบร้อยก่อน
เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบห้อง โดยจะตรวจสอบห้องด้วยตนเอง หรือ ให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบห้อง เพื่อดูว่าห้องมีความชำรุดบกพร่องหรือไม่ เพื่อให้โครงการแก้ไขให้เรียบร้อย ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่แนะนำให้รีบรับโอนกรรมสิทธิ์ หรือหลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำกล่าวอ้างของพนักงานขาย ที่ให้รับโอนกรรมสิทธิ์ไปก่อน แล้วจะแก้ไขให้ภายหลัง ทั้งที่ห้องยังแก้ไขไม่เสร็จเรียบร้อยดี เพราะหากรับโอนไปแล้วโครงการอาจทิ้งงาน หรือซ่อมให้ล่าช้าจนหมดอายุการรับประกัน
5. ประเมินความสามารถทางการเงินของตนเอง
ก่อนที่จะซื้อบ้านหรือคอนโด หากเราไม่มีเงินสดมาซื้อ ทางเลือกต่อมาคือการผ่อนชำระ ด้วยการขอกู้สินเชื่อจากธนาคารต่าง ๆ ทำให้การประเมินกำลังตนเองว่า มีรายได้เพียงพอที่จะผ่อนชำระได้ทุกเดือนหรือไม่ เพราะอาจจะมีผลต่อการประเมินของธนาคารได้ เช่น อนุมัติให้ไม่เต็มวงเงิน หรือหากมีภาระหนี้สินที่เยอะมาก จนธนาคารประเมินว่าไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ก็อาจจะไม่อนุมัติได้ ซึ่งจะทำให้พบปัญหาว่าเมื่อจองบ้านหรือคอนโดไปแล้ว ธนาคารเกิดไม่อนุมัติขึ้นมาจะทำอย่างไร จะขอเงินจอง เงินดาวน์ คืนได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากพบปัญหาจากการเลือกซื้อคอนโด สามารถร้องเรียนหรือบอกยกเลิกสัญญาได้ทันที โดยตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2551 มาตรา 6/1 ระบุว่า “การโฆษณาหรือหนังสือชักชวนถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดด้วย” ดังนั้น หากการส่งมอบห้องชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางหรือสาธารณูปโภคไม่ตรงกับโฆษณาหรือหนังสือชักชวนถือว่าผิดสัญญา ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อห้องชุดมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือบอกเลิกสัญญาได้
หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ร้องเรียนมาได้ที่สภาผู้บริโภค 1502 ในวันเวลาทำการ (จันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น.)