แนวโน้มของคนยุคใหม่ในปัจจุบันคือการดูแลสุขภาพ ซึ่งหมายถึงการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารและขนม “คลีน” ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบที่มีปริมาณแคลอรี่ต่ำ – แป้งนิด หวานน้อย อร่อยมาก – จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ “ขนมคลีน” ออกมามากมายโดยที่แต่ละแบรนด์จะมีการชี้ชวนนักชอปสายสุขภาพด้วยการแสดงจำนวนกิโลแคลอรี่ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “kcal” แต่รู้หรือไม่ว่าปริมาณแคลอรี่ต่ำ ๆ บนปกอาจไม่ตรงกับจำนวนจริงของขนมในกล่อง
ปัญหาการโกงค่า kcal บนฉลากอาจจะเกิดจากการปรับสูตรที่ยังไม่ลงตัว จากเดิมที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาเป็นสูตรใหม่ที่ลงตัวกว่า แต่ยังไม่ได้นำสูตรใหม่ไปแจ้งกับ อย. หรือ อาจจะเกิดจากการจงใจทำผลิตภัณฑ์ไม่ “คลีน” คือมีประมาณแคลอรี่เกินกว่าที่แจ้งบนฉลาก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ “ขนมคลีน” จึงได้นำไปตรวจคุณค่าขนมในแลปอาหาร กลับพบว่าปริมาณแคลอรี่หรือ kcal เกินกว่าที่แสดงบนฉลากเป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางกรณี ผู้ที่ควบคุมปริมาณแคลอรี่ในการบริโภคเนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ อาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากการบิดเบือนข้อมูลบนฉลากอาหาร นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์บางอย่างไม่มีการแสดงเลขทะเบียนอาหารของ อย. ไม่มีฉลากที่ อย. กำหนด แต่มีการระบุค่า kcal เพื่อชวนเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์คลีน
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดไว้ว่า ในการจำหน่ายอาหารหรือขนมคลีนนั้น ต้องส่งให้ อย. ตรวจสอบและมีเลข อย. กำกับบนฉลาก หากผู้ประกอบการมีการปรับสูตรใหม่ จำเป็นต้องดำเนินการส่งตรวจสอบใหม่ทุกครั้ง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หากไม่มีเลข อย.อาจเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคได้
ทั้งนี้ หากฉลากของผลิตภัณฑ์แสดงค่า kcal ไม่ตรงกับผลการพิสูจน์ในห้องแล็บ เจ้าของผลิตภัณฑ์จะมีความผิดตามกฎหมาย และผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้ เนื่องจากผู้บริโภคมีสิทธิขั้นพื้นฐานว่าด้วย สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง (Right to be informed) ในกรณีนี้อาจเข้าข่ายให้ข้อมูลไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในฉลาก
หากผลิตภัณฑ์ไม่มีเลข อย. มีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่ต่อสาธารณะเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารประเภทไหนที่ต้องผ่านการตรวจ และลงทะเบียนกับ อย. หรือประชาสัมพันธ์วิธีการเช็กเลขสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่านี้ รวมถึงการสุ่มตรวจสอบสินค้าเชิงรุกจากหน้าร้านของผลิตภัณฑ์ที่ได้ผ่าน อย.และได้วางจำหน่ายไปแล้วว่ายังมีปริมาณที่ถูกต้องและคุณภาพที่ดีหรือไม่
หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ขนมหรืออาหารคลีนที่มีการปรับสูตรโดยค่า kcal บนฉลากไม่เป็นความจริง สามารถส่งพิสูจน์และแจ้งเบาะแสไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ผ่านสายด่วน อย. 1556 ทางอีเมล [email protected] หรือร้องเรียนมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้
- แจ้งเบาะแส คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/inform.php
- ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]