ในปี 2566 ประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 85 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีการเข้าถึงร้อยละ 64.4 และพบว่า คนไทยอายุระหว่าง 16 – 64 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงกว่า 8 ชั่วโมง ขณะเดียวกันปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในการใช้บริการมือถือของคนไทยมากขึ้นตามด้วยเช่นกัน ข้อมูลเผยแพร่บนเว็บไซต์ไทยรัฐมันนี่ (Thairath Money) หัวข้อ ‘5 กติกาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรู้ไว้! ไม่เสียเปรียบ’ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ที่ระบุไว้ว่า ‘ปัญหาร้องเรียนด้านการใช้บริการค่ายมือถือจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นปัญหาถูกเรียกเก็บค่าบริการเอสเอ็มเอส (SMS) ที่ไม่ได้สมัคร รองลงมาเป็นเรื่องคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาที่ตัวแทนผู้บริโภคแจ้งในเวทีสะท้อนปัญหาผลกระทบผู้บริโภคหลังควบรวมกิจการโทรคมนาคมของสภาผู้บริโภค ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลเรื่องร้องเรียนในปี 2566 ของสภาผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาถึง 918 เรื่อง ที่ส่วนใหญ่เป็นกรณีการถูกหลอกลวงจากข้อความเอสเอ็มเอส (SMS) ที่มิจฉาชีพส่งเข้ามาบนโทรศัพท์ของผู้บริโภคและแนบลิงก์มาให้กด เมื่อเผลอกดอาจสูญเงินหรือถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว อีกทั้งยังพบการถูกหักเงินจากบริการเสริมที่ไม่ได้สมัคร รวมถึงปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ ปัญหาเรื่องสัญญาณที่แย่ลง และถูกบังคับให้เปลี่ยนโปรโมชันทั้งที่ไม่ได้ยินยอม เป็นต้น
ทั้งนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปข้อร้องเรียนด้านบริการจากผู้บริโภคในปี 2566 ที่ กสทช. ได้รับว่า ประเด็นข้อร้องเรียนส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานเกิดจากความไม่รู้และการที่ผู้ประกอบการหาช่องทางการเอารัดเอาเปรียบ จนทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรม โดยที่ นพ.ประวิทย์ ได้เปิดเผย 5 สิ่งที่ผู้บริโภคต้องรู้เกี่ยวกับการใช้มือถือ ดังนี้
1. การถูกหักเงินจากการที่ไม่ได้สมัครบริการเสริมบนมือถือ ในประเด็นนี้ สำนักงาน กสทช. แก้ไขปัญหาโดยการกำหนดกติกาให้การสมัครบริการเสริมบนมือถือ ผู้บริโภคจะต้องได้รับชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียว “โอทีพี” (One Time Password : OTP) เพื่อยืนยันตัวตนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสมัครบริการเอสเอ็มเอสโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว
2. โปรโมชันต้องเป็นโปรฯ เดิม แม้ผู้บริโภคจะไม่ได้กดเปลี่ยนโปรฯ ผ่านการแจ้งเปลี่ยนโปรฯ อัตโนมัติของค่ายมือถือ แต่หากมีการเปลี่ยนโปรโมชันแบบอัตโนมัติ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค
3. หากต้องการย้ายค่ายเบอร์เดิม ค่ายมือถือต้องทำให้ทันที การถ่วงเวลาหรือไม่ดำเนินการให้ สามารถร้องเรียนได้ และอย่าลืมว่าการปิดเบอร์หรือย้ายค่าย ผู้บริโภคจะต้องจ่ายยอดค้างชำระให้ครบก่อนแล้ว จึงไม่เหตุผลในการถ่วงเวลา
4. หากผู้บริโภคยกเลิกบริการหรือปิดเบอร์และถูกทวงหนี้ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีหลังปิดเบอร์ ค่ายมือถือจะต้องพิสูจน์ความจริงภายใน 60 วัน หากพิสูจน์ไม่ได้ ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายหนี้ แต่หากถูกทวงหนี้หลัง 2 ปี จะถือว่าเป็นกรณีที่หมดอายุความแล้วและผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องชำระหนี้
และ 5. หากยกเลิกบริการระบบบัตรเติมเงิน (พรีเพด; Prepaid) และยังคงมีเงินเหลืออยู่ในระบบ ผู้บริโภคสามารถติดต่อศูนย์บริการเพื่อขอเงินเหลือค้างคืนได้ทันที
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบปัญหาการใช้บริการค่ายมือถือ อย่าปล่อยผ่านและร้องเรียนไปที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. เบอร์สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนออนไลน์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th และไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand
*ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ไทยรัฐมันนี่ (Thairath Money)
https://www.thairath.co.th/money/experts_pool/columnist/2751215