แนะผู้บริโภค ‘เลิกบุหรี่’ อย่างไรให้ได้ผล และปลอดภัยต่อสุขภาพ

วันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี เป็นวัน ‘งดสูบบุหรี่โลก’ ซึ่งกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้ทั่วโลกเห็นถึงโทษอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ และเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับวันนี้ เพื่อรณรงค์ช่วยเหลือและหนุนเสริมให้ผู้บริโภคเลิกสูบบุหรี่

สำหรับใครที่กำลังคิดจะเลิกบุหรี่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้สภาผู้บริโภครวบรวม 11 ข้อ เลิกบุหรี่ให้ได้ผล มาฝากกัน

  1. หาเหตุผลในการเลิกบุหรี่ เช่น เหตุผลด้านสุขภาพของตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัว เหตุผลด้านการเงิน เป็นต้น
  2. กำหนดวันที่จะเลิกให้ชัดเจน หรือหาวันที่เหมาะสมในการเริ่มต้น เช่น วันเกิด วันเกิดของลูก
  3. ทิ้งอุปกรณ์การสูบ ทั้งไฟแช็กและที่เขี่ยบุหรี่
  4. เปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมต่างๆ หลายครั้งที่การเลิกบุหรี่ไม่เป็นผลเพราะคุณยังวนเวียนอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ทางที่ดีผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมที่มีคนสูบบุหรี่ หรือการไปพักเบรกระหว่างวันทำงานกับเพื่อนที่สูบบุหรี่ หากตัดสินใจแล้วก็ควรนำบุหรี่หรือที่เขี่ยบุหรี่ทิ้งลงถังขยะไปให้หมด
  5. หาตัวช่วยเพื่อลดความอยากบุหรี่ไว้ใกล้ตัว เช่น ขนมขบเคี้ยว ลูกอม หมากฝรั่ง ผลไม้รสเปรี้ยว เป็นต้น หรือมีงานวิจัยที่แนะนำให้ใช้มะนาวเป็นตัวช่วยโดยการนำมะนาวทั้งเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พกติดตัวไว้ เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ให้หยิบมะนาวขึ้นมาอมโดยอมช้าๆ และเคี้ยวเปลือกมะนาวและกลืน จากผลการวิจัยพบว่าในมะนาวมีวิตามินซีที่มีสารช่วยลดความอยากนิโคตินได้อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ และในผู้ที่เลิกบุหรี่ด้วยมะนาวส่วนใหญ่พบว่าเลิกบุหรี่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ และจะทำให้ไม่มีความอยากสูบบุหรี่อีก
  6.  หลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่ตั้งใจเลิกบุหรี่หวนกลับไปสูบบุหรี่อีก ดังนั้น เมื่อรู้สึกเครียดควรหยุดพักสมองสักครู่ เเล้วคลายความเครียดด้วยวิธีอื่น เช่น พูดคุยกับคนรอบข้าง หรืออ่านหนังสือที่ชอบ
  7. หมั่นออกกำลังกาย การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเลิกสูบบุหรี่เเล้ว ยังช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายความตึงเครียด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจเเละปอดได้อีกด้วย
  8. ดื่มน้ำให้มาก ในช่วงเวลา 2-3 อาทิตย์แรกที่กำลังเลิกบุหรี่จะมีความทรมานและความอยากสูบบุหรี่อยู่มาก การดื่มน้ำมากๆ จึงช่วยบรรเทาได้โดยในหนึ่งวันควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 10 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร ) จะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย บรรเทาความหงุดหงิดลงได้บ้าง
  9. ขอคำปรึกษาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หากพยายามเลิกด้วยตัวเองแล้วไม่สามารถทำได้ แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ Quit Line 1600 สถาบันธัญญารักษ์ หรือคลินิกเลิกบุหรี่ตามโรงพยาบาลทั่วไป
  10. อย่ากลับมาสูบเพราะคิดว่าสูบแค่เป็นครั้งคราว หลายคนหวนกลับไปสูบบุหรี่อีกเป็นครั้งคราวด้วยความคิดที่ว่าคงไม่เป็นไร ซึ่งการหวนกลับไปสูบบุหรี่อีก เเม้ว่าจะนาน ๆ ครั้ง ก็ทำให้ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด
  11. อย่าท้อกับการต้องเริ่มต้นใหม่ ควรให้กำลังใจตัวเองและพยายามท่องไว้เสมอว่า “ฉันจะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ในปีนี้’

นอกจากนี้ อีกหนึ่งคำแนะนำสำคัญคือ อย่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายเกือบทั้งหมดล้วนมีนิโคติน แม้แต่ยี่ห้อที่อ้างว่าไม่มี ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่สามารถช่วยเรื่องการติดนิโคติดได้ ยิ่งไปกว่านั้น รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานของหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจ เพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังพบสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน

ที่สำคัญคือ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ อนุญาตให้เคลมว่ามีสารพิษน้อยกว่า แต่ไม่ได้ยืนยันว่ามีอันตรายน้อยกว่าตามที่บริษัทบุหรี่นำมากล่าวอ้าง และยังไม่เคยมีประเทศใดขึ้นทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ออสเตรเลีย ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 โดย 60% ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/5-วิธี-พร้อมเลิกบุหรี่-2
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/stop-smoking
https://www.thaihealth.or.th/10-วิธีช่วยเลิกบุหรี่
https://allwellhealthcare.com/cigarette/
https://www.hfocus.org/content/2023/02/27032#:~:text=%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5,%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8