ปัจจุบันอาหารเจสำเร็จรูปเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค เพราะความสะดวก รวดเร็ว แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการซื้ออาหารสำเร็จรูป คือ ฉลาก ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ สภาผู้บริโภคแนะแนวทางสังเกต เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างปลอดภัย
บนฉลากอาหาร ควรแสดงอะไรบ้าง
อาหารทุกประเภทที่มีการวางจำหน่าย จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์และตัวเลขบริเวณบรรจุภัณฑ์ที่เป็นข้อมูลสำคัญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการกำหนดไว้ว่าอาหารที่จำหน่ายต้องมีข้อความภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซึ่งแสดงรายละเอียด โดยมีสาระสำคัญได้แก่
- ชื่ออาหาร
- สารบบอาหาร โดยมีเครื่องหมายแสดงทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร สัญลักษณ์ของ อย.ตามด้วยเลขทะเบียนและปีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ
- ปริมาณสุทธิของอาหารเป็นระบบเมตริก
- ส่วนประกอบที่สำคัญ หรือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA) การแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่มีอยู่จริงในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น
- ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้
- ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” แล้วแต่กรณีที่มีการใช้
- แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
- การแสดงวัน เดือนและปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและควรอยู่บนผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งและแบบปรุงสุก
- ราคาของสินค้าพร้อมระบุหน่วยบาท
วิธีการเลือกซื้ออาหารเจ ป้องกันอาหารเจปลอม
1. เลือกซื้อจากร้านอาหารที่เข้าร่วมในเทศกาลกินเจ เนื่องจากผ่านการตรวจสอบการปนเปื้อนแล้ว หากร้านทั่วไปควรเลือกซื้อจากร้านที่คุ้นเคยกันหรือสังเกตจากสัญลักษณ์ธงสีเหลือง
2. ถ้าสังเกตพบว่าอาหารที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์มีลักษณะของสีและกลิ่นรวมถึงรสชาติที่ผิดแปลกไปไม่ควรบริโภค
3. เลือกซื้อจากร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)
4. ควรเลือกบริโภคอาหารเจที่ปรุงประกอบจากอาหารแห้ง ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งแทนก็จะได้โปรตีนทดแทนครบคุณค่าทางโภชนาการ โดยก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่าง ๆ และควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค
หากผู้ประกอบการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่มีการติดฉลากหรือฉลากมีข้อมูลที่ผิดพลาดนั้นจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
หากผู้บริโภคท่านใดพบปัญหาความบกพร่องของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไม่แสดงฉลากภาษาไทย แสดงฉลากไม่ครบถ้วน หรืออาหารหมดอายุ สามารถแจ้งร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ผ่านสายด่วน อย. 1556 และสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง
ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
อีเมล : [email protected]
โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
ข้อมูลอ้างอิง
คำเตือนถึง “เพื่อนรัก” รู้ให้ทัน “ฉลากอาหาร” ที่อาจกลายเป็น “ฉลากลวง”
กินเจไม่ได้บุญ! “อาหารเจปลอม” พบเนื้อสัตว์ปนเปื้อน แนะวิธีเช็ก เจจริง เจปลอม