เปิดแถลงการณ์สภาผู้บริโภคยื่นถอดถอน ป.ป.ช.ทั้งคณะ 

สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคจัดงานแถลงข่าว “ความล้มเหลวของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” เพื่อแสดงความผิดหวังและแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการ กสทช. พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมกันและเตรียมเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ทั้งกรณีมีมติรับทราบการควบรวมทรู-ดีแทค และการอนุญาตให้ควบรวม AWN-3BB

 กสทช.เป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่น่าเสียใจในแง่การปฏิรูปกิจการเคลื่อนความถี่โทรคมนาคมคือมีความคืบหน้าแล้วก็ถอยหลัง และเป็นการถอยหลังที่มองไม่เห็นอนาคตด้วยว่าแล้วเราจะไปอย่างไรกันต่อ 

ในที่สุดการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันทำให้เราเห็นถึงสภาพสะท้อนจากคนนอกที่มองเข้าไปเสมือนเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสองรายใหญ่ สองมุมใหญ่ เพราะว่าคนที่ได้ประโยชน์ชัดเจนก็คือ ผู้ประกอบการทั้งสองรายใหญ่ แต่เราไม่เห็นเสียงสะท้อนหรือว่าเสียงที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในกสทช.อย่างชัดเจนเลย แม้แต่กรรมการ กทสช.ที่ได้รับเลือกมาให้คุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงเพราะฉะนั้นอันนี้เป็นความหวังที่ริบหรี่อยู่แล้ว เหมือนจะมอดลง เราไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภคในองค์กรอิสระที่มีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองความอิสระตามกฎหมายที่มาจากเจตนารนมณ์ในรัฐธรรมนูญเป็นต้น

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาวะความขัดแย้งในกทสช.ซึ่งความขัดแย้งความเห็นต่างในองค์กรอิสระเป็นเรื่องปกติ เพราะกรรมการแต่ละท่านมีจุดยืนของตัวเองได้ แต่ว่าความขัดแย้งของ กสทช.ชุดนี้ทำให้สาธารณะมองไม่เห็นว่าเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะอย่างไร และมีผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร แต่จะก็จะเห็นความขัดแย้งที่เหมือนกับดำดิ่งและนำพาสภาพขององค์กรกสทช.ไปสู่ทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาซึ่งข้างนอกส่องเข้าไปไม่ถึงว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน ทำให้สาธารณะยากจะรู้ว่า กสทช.ทำอะไรกัน พูดคุยอะไรกัน และสุดท้ายสังคมจะได้ประโยชน์อะไร

ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าผู้บริโภคในยุค 5G และ 6G เรากำลังจะเข้าสู่ยุค AI และ Internet of Things ปัญหารุมเร้าทั้งในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพที่มาจากแก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์ สแปมต่างๆ รวมไปถึงคุณภาพในการให้บริการผู้บริโภคก็ถึงกับมืดมนว่าเราจะพึ่งใคร ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นที่พึ่งอย่าง กสทช.กลายเป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นความหวังให้กับเราได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา 

ปัญหาของกสทช.หรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้แต่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ชุดที่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ชุดนี้เป็นชุดใหม่และก็มีโอกาสที่จะแก้ไขสภาพการณ์ให้ดีขึ้น แต่ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สังคมตั้งคำถามไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจของประธาน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นระบบราชการของสำนักงานแต่ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคหรือแม้แต่การมีเสียงข้างมาก 4 เสียง

แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลและการใช้กฎหมายที่อาจจะขัดหลักนิติธรรมนั่นก็คือการคำนึงถึงความเป็นธรรมหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องมาหลายครั้ง ยื่นจดหมายมาหลายครั้ง แถลงข่าวมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับเสียงตอบรับ พูดง่าย ๆ ว่า ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก จากข้อเรียกร้องต่าง ๆ ทำให้มองไม่เห็นอนาคตว่าจะเดินต่อไปกันอย่างไร 

“อยากจะย้ำหลักการว่าเราต้องการทางเลือกที่ 3 เสมอโดยเฉพาะในกิจการที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในกิจการโทรคมนาคม ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับสายการบิน ทุกท่านคงจำได้ว่าถ้ามีรายเดียวราคาจะสูงขนาดไหน หรือมีสองรายก็รู้สึกว่าก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ ถ้ามีสามถึงสี่ราย ราคาลดลงและอาจจะอุ่นใจให้เลือกได้ว่าสายการบินนี้ดีเลย์บ่อย ตรงเวลา ไม่ตรงเวลา ผู้บริโภคก็รู้สึกว่ามีทางเลือก ถ้าเมื่อไหร่ลดเหลือจากสามหรือสองไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหา หรือเปรียบเทียบให้เห็นชัดกว่ากับเรื่องการเมือง พรรคการเมืองก็เหมือนกัน ถ้าเกิดท้ายที่สุดการที่มีพรรคการเมืองหลากหลายสะท้อนความคิดเห็น อุดมการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดีคนก็จะได้เลือก แต่ถ้าเหลือพรรคการเมืองใหญ่สองฝั่งแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่มารวมกันหรือฮั้วกันทางอำนาจ และถ้าเมื่อไหร่เกิดขึ้นแบบนั้นมันก็จะทำให้เกิดปัญหากับประชาชนฝ่ายค้านเองก็จะลำบากเลยเหมือนกัน”

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องของการบริโภคสินค้าบริการต่าง ๆ เราต้องการทางเลือกที่ 3 และ 4 เสมอ แต่ตอนนี้ถ้าสถานการณ์ยังบีบให้เหลือสองรายหลักในตลาดที่มีอิทธิพลมากกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน อยากจะเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง วันนี้เราก็คงรู้สึกว่าเราคาดหวังจากกสทช.ยากแล้ว ก็อยากจะย้ำอีกทีฝากถึงรัฐบาล ฝ่ายบริหาร 

ท่านจะนำพาประเทศไทยให้พ้นไปจากภาวะตรงนี้ ปลดล็อกได้อย่างไรให้เกิดทางเลือกและการแข่งขันกิจการโทรคมนาคมเพื่อรับยุค AI ยุค 5G 6G ในอนาคต อยากจะฝ่ายนิติบัญญัติทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.ทั้งหมด เพื่อที่จะให้มีการทำงานที่มีธรรมาภิบาลมากกว่านี้ อาจจะฝากไปถึงขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันจะทบทวนเกี่ยวกับเรื่องกสทช.ไหม รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญติที่ต้องแก้กฎหมายคงต้องคิดเรื่องนี้

และสุดท้ายคงต้องฝากความหวังไว้กับฝ่ายตุลาการเพราะว่าคดีต่าง ๆ ไปที่ศาล ฟ้องกันไป ฟ้องกันมามากมาย ก็คงต้องเป็นศาลที่ต้องช่วยทำให้เกิดความยุติธรรมเกิดขึ้นในการที่จะคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป ฝากไว้ที่ผู้บริโภคเอง ถ้าพึ่งใครไม่ได้ ก็คงต้องพยายามพึ่งตัวเองไปก่อนให้มากที่สุด ในการที่จะช่วยกันร้องเรียน เฝ้าระวังและส่งเสียงต่อไป 

ความล้มเหลว 4 ประการของกสทช.

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความล้มเหลวของกสทช.ในการคุ้มครองผู้บริโภคมี 4 ประการได้แก่ ประการแรก คือ การปล่อยให้มีการควบรวมโดยเฉพาะในปีที่แล้วมีการควบรวมในกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค โดยที่กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่เลย ทำเพียงการรับทราบและทราบดีว่าขณะนี้ผู้บริโภคเดือดร้อนเพราะถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตไม่มีแพ็กเกจที่ราคาถูกและมีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคซึ่งเป็นความล้มเหลวของกสทช.ที่ไม่ได้ใช้อำนาจของตัวเองในการพิจารณาว่าควรจะให้มีการควบรวมไหม

“สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือกสทช. ไม่สามารถกำกับให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคหรือควบคุมได้ตามมาตรการที่ตัวเองออกแบบไว้สะท้อนว่ากสทช. ไม่สามารถกำกับการทำงานของสำนักงานกสทช. ได้เลย”สารีกล่าว

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าดูจากไทม์ไลน์ก็จะเห็นว่าภาคประชาชนได้ทำงานหนักกันมาก ในการคัดค้านกสทช. จนกระทั่งนำคดีไปสู่ศาลปกครองถึงสองคดีและทำหน้าที่อย่างเต็มที่ รวมทั้งนักวิชาการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็เพื่อที่จะให้กสทช. ได้ใช้อำนาจของตัวเอง แต่สุดท้ายกสทช. ก็ทำหน้าที่เพียงรับทราบและขณะนี้ก็เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้บริโภค 

ความล้มเหลวประการที่สองคือการอนุญาตให้ควบรวมโดยที่ไม่ได้มองบริบทของการรับทราบการควบรวมไปแล้วของกิจการโทรคมนาคมนั้นส่งผลต่อการควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตแล้วทำให้เหลือเพียงสองเจ้าใหญ่เหมือนกับกิจการโทรคมนาคม เพราะฉะนั้นทำให้เราย้อนถอยหลังไปมาก เหมือนที่เรามีองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งกสทช.ไม่ได้ดูว่าตัวเองเพิ่งรับทราบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและการอนุญาตให้ควบรวมในครั้งหลัง โดยจากเอกสารที่กสทช.พยายามที่จะชี้แจงต่อองค์กรผู้บริโภค ก็เห็นชัดเจนว่าการควบรวมครั้งนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคด้านราคา โดยงานวิจัยระบุว่ามีถึง 9.5 เปอร์เซนต์ ถึง 13.4 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นก็ระบุว่า จะมีผลกระทบระดับ 2.3 เปอร์เซนต์ ถึง 45 เปอร์เซนต์ ขณะที่กสทช. ก็ได้คาดการณ์ว่าอาจจะไม่ถึง 45.8%

“จากงานวิจัยของ 101 PUB พบว่าจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค 9.5 เปอร์เซนต์ ถึง 22.9 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นกสทช. กำลังจะบอกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้สามารถจัดการได้  แต่พวกเราไม่มีความมั่นใจเลยและไม่เชื่อว่ากสทช.จะทำได้จริง” สารีกล่าว

ความล้มเหลวประการที่สาม ขณะนี้ กสทช. ต้องไปยืนหน้าห้องประชุมที่ห้องประชุมปิดและไม่สามารถเข้าไปประชุมได้ การที่ไม่สามารถกำหนดวาระการประชุมได้เลย การที่ต้องยืนอย่างโดดเดี่ยวหน้าห้องประชุมและไม่สามารถเข้าไปประชุมได้หรือต้องเลื่อนประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า จะเห็นว่ากสทช.ไม่สามารถสั่งการสำนักงานได้ ถึงแม้มติของกรรมการเสียงข้างมากที่ให้ดำเนินการกับรักษาการเลขาธิการก็ไม่มีผลในการใช้บังคับ หรือกรณีการควบรวมดีแทคกับทรูก็เห็นชัดเจนว่ามาตรการที่หวังว่าจะให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถที่จะดำเนินการได้จริง เพราะฉะนั้นอย่าเดียงสาว่าจะสามารถจัดการสำนักงานได้ในการควบคุมราคาไม่ขึ้นราคาต่อผู้บริโภคซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อาจเชื่อได้และเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างภาระให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบ

ความล้มเหลวประการที่สี่สะท้อนจากการคัดเลือกเลขาธิการที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เลย มีความขัดแย้งฟ้องร้องกันไปมา เลขาธิการฟ้องกสทช.และกสทช.ก็ฟ้องกันเอง หรือฟ้องสำนักงานต่าง ๆ นอกจากนี้คนที่ควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ ก็ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นกันอย่างชัดเจนว่ากสทช.เองต้องยอมรับว่าขณะนี้ ตัวเองไม่สามารถทำหน้าที่กันได้เลย

 และโดยเฉพาะคนที่น่าผิดหวังที่สุดก็คือคนที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่ยังไม่เห็นว่าได้ทำอะไรในการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถจัดการในสิ่งที่ทำเป็นกติกา อย่างเช่นการที่บริษัทต้องลดราคาลง 12% หรือเอสเอ็มเอสจะต้องบอกแหล่งที่มาของคนส่งขณะนี้ก็ไม่สามารถกำกับได้หรือการจำกัดการถือครองซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังไม่สามารถทำได้เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนความล้มเหลวของกสทช.

สภาผู้บริโภคไม่ได้รังเกียจรังงอน กสทช. แต่เนื่องจากว่าระยะเวลาปีกว่าที่เราเห็นปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช.ถึงอยากจะบอกว่าสิ่งที่เราเสนอ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ลาออกเอง ถ้าไม่ลาออก สภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำหน้าที่ต่อไป กระบวนการยื่นเอกสารและกระบวนการทำงานของสภาองค์กรผู้บริโภคก็จะเดินหน้าโดยเฉพาะในส่วนที่จะให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราเห็นปัญหาอย่างชัดเจน กสทช.ก็ควรจะรับฟัง

 สิ่งที่เกิดขึ้นก็ประหลาดใจมากว่า กสทช.เสียงข้างมาก ก็อาจจะรู้สึกดีที่ตัวเองได้ใช้อำนาจในการอนุญาตให้ควบรวม แต่ว่าทั้ง ๆ ที่ผ่านมา กสทช. 4 ท่านไม่เคยที่จะประชุมได้เลย ถ้าสำนักงานไม่อนุญาต เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดี การทำหน้าที่ของ กสทช.ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคได้เลย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเอกสาร ไทม์ไลน์ต่าง ๆ ก็จะเห็นว่าในช่วงแรกของเหตุการณ์ควบรวม องค์กรผู้บริโภคได้ทำหน้าที่อย่างมากมาย เรียกว่ามากกว่าสิ่งที่เราเคยทำงานกับ กสทช.มาในอดีต ได้ทำทั้งข้อมูล ข่าวสาร การสำรวจ การไปมีส่วนร่วมต่าง ๆ และฟ้องคดีอย่างที่ทราบ 2 คดี เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย วันนี้กทสช.ทั้ง 7 ท่านต้องตัดสินใจ ทำในสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคเสนอหรือเรียกร้อง 

จริง ๆ เรายังมีภาระอีกมากจากการที่เขาเสนอให้มีการควบรวมหรืออนุญาตให้มีการควบรวมหรือรับทราบให้มีการควบรวม ประชาชนต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ต้องตรวจความเร็วอินเทอร์เน็ตเอง ต้องเรียกว่าบริษัทจะแอบเปลี่ยนแพกเก็จเราไหม เพราะฉะนั้นนี่คือภาระผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจากการไม่ทำหน้าที่ของกสทช.และสำนักงานกสทช.ใช่หรือไม่ อยากเชิญชวนผู้บริโภคทั้งหลาย เมื่อเขาไม่ทำหน้าที่ เราก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราเอง

ควบรวม “ทรู-ดีแทค” ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น- คุณภาพแย่ลง

นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากที่ฟ้องคดี เพื่อให้มีการดำเนินการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ระหว่างการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเราได้รับทราบเรื่องของผลกระทบผู้บริโภคเจอปัญหาการใช้บริการควบรวมแล้ว

ขณะที่กสทช. ต้องมีมาตรการควบคุมตามที่เคยบอกไว้คือ ราคาต้องลดลง 12 % ซึ่งหลังการควบรวมทรู-ดีแทค ผู้บริโภคได้รับข้อมูลว่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ปัจจุบันมันสวนทางกับสิ่งที่ กสทช.บอกไว้ เพราะเราพบปัญหาค่าบริการของผู้บริโภคแพงขึ้นกว่าเดิม

ส่วนคุณภาพการให้บริการลดลงเพราะว่าเราเจอปัญหาผู้บริโภคสะท้อนปัญหาตั้งแต่การถอนเสาสัญญา การลดสถานี การปิดศูนย์ให้บริการ ประเด็นต่างๆเหล่านี้นอกจากการควบรวมแล้วน่าจะมีปัญหาจากกระบวนการประชาสัมพันธ์ที่ทาง กสทช.เขาไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบเลยว่าการควบรวม จะมีมาตรการเฉพาะที่แจ้งให้ผู้ประกอบการแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบ

 ที่ผ่านมาเราไม่เห็นการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับจริง ตามที่ กสทช.ออกมาตรการเฉพาะหรือข้อกังวลนั้นเอาไว้หรือเปล่า เพราะว่ามาตรการประชาสัมพันธ์ไม่มี และมูลนิธิไม่เคยเห็นว่าทั้งผู้ประกอบการและ กสทช.ให้ข้อมูลเหล่านี้กับผู้บริโภคหรือไม่ รับทราบว่าอัตราค่าบริการถูกลงจากที่กำหนดเอาไว้อย่างไร ไม่มีข้อมูลเลย ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าแพ็กเกจที่เขาให้บริการถูกลงจริงหรือไม่อย่างไร  เพราะปัจจุบันมีค่าบริการที่แพงขึ้น และอ้างว่าแพ็กเกจนี้หมดไปแล้ว ซึ่งบางทีผู้บริโภคไม่รู้ว่าหมดจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่มีการปรับราคาของผู้ประกอบการธุรกิจเอง

นอกจากนี้ยังพบว่าการติดต่อเข้าไปหลังการขายยังมี ปัญหาคอลเซ็นเตอร์และช้า ติดต่อยาก มากกว่าเดิม ภาพรวมยังเจอปัญหามากกว่าเดิม ราคาแพ็กเกจที่ผู้บริโภคซื้อไม่กี่บาทถูกบังคับให้ใช้เป็นแพ็กเกจเสริมแทนทำให้ภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นประเด็นว่าหลังการควบรวมผู้บริโภคได้ประโยชน์จริงหรือไม่ กลายเป็นว่าผู้บริโภคมีภาระมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิฯ เคยได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นที่กสทช. และผู้ประกอบการบอกว่าได้แก้ไขปัญหาตรงนี้มาแล้ว พร้อมมีข้อมูลว่าเขาดำเนินการครบแต่ปัญหานี้ก็ยังอยู่ก็เลยคิดว่า มาตรการนี้ควรจะมีการทำให้ผู้บริโภครับทราบและรวบรวมปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงได้ทำโพสต์สำรวจเพื่อให้ผู้บริโภคสะท้อนปัญหาหลังจากมีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ตั้งแต่เริ่มเราได้ดูข้อมูลผู้บริโภคมาแล้ว แต่ไม่เห็นว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้าง สำรวจตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. ถึงวันที่ 16 พ.ย. จำนวน 2,700 คนสะท้อนปัญหาหลักคือค่าบริการแพงขึ้น และคุณภาพแย่ลง 

ชโลม เกตุจินดา หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ได้ติดตามตามบทบาท และการทำงานของ กสทช.ตั้งแต่เริ่มมี พ.ร.บ.กสทช จนกระทั่งมีกรรมการ ในสมัยที่คุณสุภิญญา ทำงานเราก็มีบทบาท ในการทำงานติดตามประเด็นผู้บริโภคที่รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ในประเด็นที่ กสทช.ต้องทำงานผูประกอบการคิดยังไง ผู้บริโภคคิดอย่างไร และภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนได้เสียในการจัดระบบ 

ทั้งนี้กสทช.ชุดใหม่ 11 ท่าน รวมวิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม ปรากฏว่าไม่เคยทำงานรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และผู้บริโภคอย่างชัดเจน รวมถึง การเปิดข้อมูล  นอกจากนี้การเข้าเว็ปไซต์ของ กสทช. สิ่งที่คาดหวังคือ ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้รับเลือกให้ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้วยนอกจากการเป็น แต่ปราฎว่าเข้าเว็ปไซต์ ระบุเพียงตำแหน่งเป็นประธานไม่มีวงเล็บว่าดูแลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือน กสทช.ด้านอื่น ๆ

และการทำงานในเรื่องลิขสิทธิ์บอลโลกที่ผ่านมาทำให้ กองทุน กสทช. ที่จะทำหน้าที่ให้กระจายการรับชมให้ทั่วถึงทั้งกลุ่มคนพิการและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งช่วงนั้นเราอยู่ในสถานการณ์โควิด  เด็กต้องเรียน ต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่มีปัจจัยสำคัญแต่ไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคเลย  

 อันนี้ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพที่แย่ลง แต่ว่าแพ็กเกจต่าง ๆ ที่เกิดปัญหา เด็กกลุ่มเปราะบางที่ใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน ซื้อวันละ 20 บาท ไม่มีสิทธิจัดการปัญหาเหล่านี้เลย คือหน้าที่กสทช.มี 29 ข้อ และระบุในข้อ 10-14 ให้ไปดูว่าทำอย่างไร 

จัดการเรื่องคุณภาพการบริการที่ดีที่สุดแล้วต้องมีแพ็กเกจ ที่สามารถเขาถึงได้จริง ต้องตรวจสอบ กสทช.ภาคภาคประชาชน บอกว่า กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่ คุ้มครองผู้บริโภคตามที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นเราคิดว่า เรื่องนี้จะตามดูใช้กฎหมายเกี่ยวข้องซึ่งอาจจะติดขัดเล็กน้อยเพราะว่าท่านไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระซึ่งเราก็เชื่อว่าท่านเป็นองค์กรของรัฐ

การควบรวมเองก็มีปัญหา ผู้บริโภคหลายกลุ่มบ่นว่าอินเทอร์เน็ตแย่ลงเพราะราคาลดลง 12 % ที่บอกราคาลดลงมีจริงหรือไม่ เพราะว่า 1 ปีที่มีการควบรวมก็มีปัญหา  เพราะฉะนั้นประเด็น AIS รวมกับ 3BB และมี NT มาหน่อยหนึ่งนั้นมีปัญหาซึ่งจะติดตาม ตรวจสอบ และจะไปพิจารณาฎหมาย ถอดถอนท่านอย่างเป็นระบบเพื่อบอกว่าผู้บริโภคทุกคนมีพลังที่จะถอดถอนท่านได้

แถลงการณ์ ถอดถอน กสทช. ทั้งคณะ

ชลดา บุญเกษม กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค อ่าน แถลงการณ์สภาองค์กรของผู้บริโภคเตรียมยื่น ป.ป.ช. ให้ถอดถอน กสทช. ทั้งคณะ จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สามารถกำกับกิจการโทรคมนาคม เกิดการผูกขาด ละเมิดสิทธิผู้บริโภค พร้อมยื่นกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ และการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้มีความเห็นร่วมกันที่จะนำเรื่องขึ้นเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ทำการถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ด้วยการมีมติในสองวาระ ที่เปิดทางให้เกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม โดยให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในเดือนตุลาคม 2565 และ การควบรวมครั้งที่สอง ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 รวมทั้งไม่สามารถประชุมและไม่สามารถกำหนดวาระการประชุมที่เป็นประโยชน์ได้ แบ่งเป็นฝักฝ่าย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามวัตถุประสงค์และภารกิจตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบ 

ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน มีรายละเอียด 3 ประการดังนี้ 

1. คณะกรรมการ กสทช. ได้ยอมรับในเอกสารแสดงความเห็นหลังการควบรวม AWN-3BB ว่า

การลงมติในการประชุม กสทช. เมื่อ 20 ตุลาคม 2565 “รับทราบ” การรวมธุรกิจของทรูและดีแทค เพราะเห็นว่าไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และกสทช.ไม่มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาตนั้น เป็นมติที่เป็นความผิดพลาด เนื่องจาก กสทช. มีอำนาจในการ อนุญาต หรือไม่อนุญาตในการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน ส่วนในการประชุมลงมติในกรณี AWN-3BB ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2 เห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน จึงเห็นว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องมีการตัดสินที่ผิดพลาดในเบื้องต้น และยังได้อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่างค่าย AWN-3BB ที่เป็นความผิดพลาดครั้งที่สอง เพราะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในการรับบริการโทรคมนาคมที่ถูกเอาเปรียบการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจเอกชน

2. การมีมติอนุญาตให้บริษัท AWN และบริษัท 3BB ควบรวมกิจการได้ โดยขาดการมองสภาพ

การผูกขาดกิจการโทรคมนาคมซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดอินเตอร์เน็ตตามมา ทำให้บริษัทที่ควบรวมได้รับประโยชน์โดยตรงที่สำคัญสองประการคือ

• ประการที่หนึ่ง ทำให้ บริษัท AWN บริษัทในเครือ AIS มีส่วนแบ่งในตลาดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มากถึงร้อยละ 44.44 ในขณะที่ลำดับที่สองและสามที่เหลืออยู่ คือ 

บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 37.47 และ 15.44 ตามลำดับ การที่คณะกรรมการ กสทช. 

ให้ความเห็นว่า คู่แข่งขันที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะ NT ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจะสามารถคานอำนาจทางการตลาดกับสองค่ายใหญ่ได้ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการมองโลกธุรกิจที่ขาดการพิจารณาตามความเป็นจริง เพราะสัดส่วนตลาดที่ AWN ได้ไปนั้นมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมดอยู่แล้ว

• ประการที่สอง การควบรวม AWN และ 3BB ส่งผลให้ได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายซ้ำซ้อนคิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในเวลา 5 ปี การที่คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดมาตรการให้นำเงินที่ประหยัดได้นี้ไปลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหากพิจารณาอย่างผิวเผินจะเห็นว่าประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ทางกลับกันจะทำให้บริษัท AWN ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด มีโอกาสใช้เงินทุนที่เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นผลพวงจากการได้รับอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ทำลายพื้นที่การแข่งขันของผู้ให้บริการเจ้าอื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะ NT

3. จากรายงานทางวิชาการที่มีการศึกษาทั้งของ กสทช. และของสภาผู้บริโภค ชี้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลของการควบรวมจะทำให้อัตราค่าบริการสูงขึ้นและเกิดผลกระทบต่อประชาชน การกำหนดเงื่อนไขมาตรการเฉพาะของ กสทช. เช่น ให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด การห้ามขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) 

ซึ่งมีราคาต่ำที่สุดที่มีอยู่ก่อนการรวมธุรกิจ และแจ้งให้ กสทช. ทราบ พร้อมทั้งจะต้องคงคุณภาพการให้บริการและราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขาย (Package) ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ การมีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ การคงรายการส่งเสริมการขาย (Package) คุณภาพการให้บริการ และราคาแก่ลูกค้าจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา ล้วนมาจากความย่อหย่อนล้มเหลวในการกำหนดมาตรการและการกำกับดูแลของ กสทช. และ กสทช.

ทราบดีว่า สำนักงานไม่สามารถดำเนินการได้กับผู้ประกอบการ จนเกิดข้อร้องเรียนของประชาชนจำนวนมากถึงคุณภาพบริการที่แย่งลง ขณะที่ราคาค่าบริการมีการปรับสูงขึ้น ไปก่อนหน้านี้ และจากปัญหาภายในของสำนักงาน กสทช. และความขัดแย้งของคณะกรรมการ กสทช. ที่ปรากฏข่าวอยู่เนือง ๆ จึงทำให้เชื่อได้ยากว่าประชาชนจะได้รับการปกป้องประโยชน์ กสทช. ชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแม้แต่การบริหารภายในของ กสทช. ด้วยกันก็ยังมีภาพให้สาธารณชนได้เห็นถึงความแตกแยกล้มเหลวอยู่เป็นระยะ ๆ

ด้วยเหตุนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ มีความเห็นร่วมกันว่า หากปล่อยให้ คณะกรรมการ กสทช. ชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะยังความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนยิ่งขึ้นตามลำดับจึงเห็นควรที่จะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งทั้งคณะ รวมทั้งจะส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ให้กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ร่วมด้วย

รับชมการแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่

เฟสบุ๊ก #สภาองค์กรของผู้บริโภค https://fb.watch/oo8aY2b-Dz/ 

และ ช่องยูทูป tccthailand https://www.youtube.com/live/Rnmt8S6e0wc?si=IlXZputCPTt6OqKu

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #โทรคมนาคม #กสทช #อินเทอร์เน็ต