ก่อนเข้าคลินิกทำฟัน อย่าลืมดูใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม และตรวจสอบรายชื่อคุณหมอที่รักษาเราด้วย!
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกรณีนักศึกษาหญิงปริญญาเอกที่ประเทศจีนติดเชื้อ HIV ซึ่งจากการสันนิษฐานของศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคของจีนระบุว่าเกิดจากการติดเชื้อหลังจากไปใช้บริการคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่งที่ไม่ได้มาตรฐาน และต่อมา อธิบดีกรมควบคุมโรค ของประเทศได้ออกมาให้ความมั่นใจว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการควบคุมดูแลมาตรฐานสถานพยาบาลให้ใช้เครื่องมือ ปลอดเชื้อ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งประกอบด้วย 1. สถานที่สะอาด ปลอดภัย มีห้องให้บริการเป็นสัดส่วนมิดชิด 2. มีทันตแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมจากทันตแพทย์สภาเป็นผู้ดำเนินการ 3. การบริการเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน 4. มียาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ โดยเครื่องมือแพทย์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำจะต้องมีการทำให้ปราศจากเชื้อโรค (Sterilization) และ 5. มีชุดช่วยชีวิตฉุกเฉินเบื้องต้น เพื่อป้องกันอันตราย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ในประเทศไทยมักพบปัญหาที่ประชาชนหลงเชื่อโฆษณารับทำรีเทนเนอร์ และบริการจัดฟันแฟชั่นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ของคลินิกทันตกรรมเถื่อน ที่นำราคาที่ถูกหรือรีวิวจากหน้าม้ามาล่อลวงประชาชนให้เข้ารับบริการ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก จากการใช้อุปกรณ์และวัสดุที่ไม่สะอาด และผู้ให้บริการที่มิใช่ ทันตแพทย์ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก จนเป็นมะเร็ง หรือเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและอุ่นใจของผู้บริโภคทุกคน สภาผู้บริโภคมีวิธีการตรวจสอบและสังเกตก่อนเข้าใช้บริการคลินิกทันตกรรมมาฝากกัน
1. สังเกตใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม โดยป้ายชื่อคลินิกต้องใช้อักษรสีม่วงบนพื้นสีขาว และต้องมีเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักติดที่ป้ายชื่อร้าน ต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการ พร้อมหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมปีปัจจุบัน ณ จุดบริการ นอกจากนี้ ยังต้องแสดงใบอนุญาตของทันตแพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการด้วย อย่าลืมนำเลขที่ใบอนุญาติเปิดคลินิกไปตรวจสอบใน ตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตการเปิดคลินิกกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ เว็บไซต์ https://hosp.hss.moph.go.th/
สำหรับผู้ที่ลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต้องระวางโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. อย่าลืมตรวจสอบว่าเป็นทันตแพทย์จริงหรือเปล่า โดยทันตแพทย์ที่ให้บริการจะมีใบหน้าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหน้าห้องตรวจ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลทันตแพทย์ของคลินิกได้จากเว็บไซต์ทันตแพทยสภา (http://dentalcouncil.or.th/) ทั้งนี้ หมอฟันเถื่อนถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่ตรวจสอบแล้วไม่มีข้อมูลตาม 2 ข้อนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าใช้บริการ และแจ้งเบาะแสไปที่สายด่วน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426 เพื่อตรวจสอบและดำเนินการต่อไป หรือแจ้งมายังสภาผู้บริโภคได้ที่ แบบฟอร์มรับเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ ของสภาผู้บริโภค https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสายด่วนสภาผู้บริโภค 1502