ลดภาษีสรรพสามิต แต่ทำไมราคาน้ำมันยังเท่าเดิม?
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศลดภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท มีผลถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 และประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ก็มีมติเพิ่มอัตราการลดภาษีสรรพสามิตลง เป็นลิตรละ 5 บาท โดยมีผลวันที่ 21 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม 2565 เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงและข้าวของแพง เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่ใช้ในภาคขนส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ค่าเดินทางของประชาชน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ราคาน้ำมันลดลงได้แค่ 1 – 2 เดือนเท่านั้น แล้วก็กลับขึ้นมาเท่าเดิม (เผลอ ๆ แพงกว่าเดิมอีก)
สำหรับสาเหตุที่ราคาดีดตัวกลับมานั้น ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นในช่วงนี้ไม่ได้เกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่เป็นเพราะโรงกลั่นคิด ‘ค่าการกลั่น’ เพิ่มขึ้น
จากปกติค่าการกลั่นจะอยู่ที่ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร หรืออาจมีบางช่วงที่เกินมาเล็กน้อย แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศลดภาษีสรรพสามิต จู่ ๆ ค่าการกลั่นก็พุ่งขึ้นเป็น 2.80 บาทต่อลิตรในเดือนมีนาคม 5.15 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายน และกลายเป็น 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนพฤษภาคม
ถึงตรงนี้บางคนอาจจะงงว่า ค่าการกลั่นคืออะไร? ค่าการกลั่น = ผลต่างระหว่าง “มูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นได้ทุกชนิดรวมกันที่หน้าโรงกลั่น” กับ “ราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่น” ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าการกลั่น เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนน้ำมันดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทั้งดีเซล เบนซิน น้ำมันเตา จารบี ฯลฯ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ หากเราย้อนหลังไปดูค่าการกลั่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าค่าการกลั่นจะอยู่ที่ประมาณ 2 บาทอย่างที่เล่าไปแล้ว แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศลดภาษี ค่าการกลั่นก็เพิ่มขึ้น ทั้งที่ต้นทุนเท่าเดิม และไม่มีคำอธิบายอะไรเลย
“การลดภาษีน้ำมันทำให้รายได้ที่จะเข้ารัฐหายไปกว่า 20,000 ล้านบาท ก็เป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง แต่การขึ้นค่ากลั่นถือเป็นการฉวยโอกาสของโรงกลั่น ผลสรุป คือ รัฐขาดรายได้ แต่ประชาชนกลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย” ผศ.ประสาทกล่าว
เมื่อถามถึงทางออกของปัญหาดังกล่าว ผศ.ประสาท เสนอว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้างราคา และควบคุมค่าการกลั่น ไม่ให้โรงกลั่นขึ้นได้ตามอำเภอใจ และแนวทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน คือ การสนับสนุนให้คนในประเทศหันมาใช้อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ทั้งนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานอย่างแท้จริง