สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอทางแก้หมูแพงระยะเร่งด่วน หากจะนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็ง ‘ต้องมาจากแหล่งผลิตปลอดการใช้สารเร่งเนื้อแดง’
‘สารเร่งเนื้อแดง’ คือ สารเคมีในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ อาทิ สารซัลบูทามอลหรืออัลบูเทอรอล เคลนบูเทอรอล และแรคโทพามีน ที่ถูกนำไปผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์หรือน้ำดื่มของสัตว์ เพื่อกระตุ้นให้สัตว์เหล่านั้นใช้พลังงานจากไขมัน เพิ่มการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อ และเปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ จนทำให้สัตว์เจริญเติบโตดี มีปริมาณเนื้อเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นเนื้อแดง เนื้อจะออกสีแดงมากขึ้น และมีไขมันน้อย ซึ่งก็น่าซื้อและน่ากินมากยิ่งขึ้น
ในคนล่ะ? ถ้ากินเนื้อหมูที่ใส่สารเร่งเนื้อแดงจะเป็นอะไรไหม?
ที่ผ่านมาพบว่า หากใช้สารเร่งเนื้อแดงในปริมาณและระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจจะทำให้เกิดการตกค้างในเนื้อหมู แม้จะทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำให้สารเร่งเนื้อแดงสลายไปได้ และแน่นอนว่าก็ย่อมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนที่ผู้บริโภคเข้าไปได้
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะพบได้ก็เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หน้าแดง ชาตามแขนขาหรือลำตัว ตัวสั่น ปวดศีรษะ หนาวสั่น หายใจลำบาก กระวนกระวาย นอนไม่หลับ และจะยิ่งเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ที่ป่วยโรคไฮเปอร์ไธรอยด์
ดังนั้น กว่า 160 ประเทศทั่วโลก จึงเลือกใช้มาตรการ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ โดยยึดหลัก ‘Zero Tolerance’ คือ การห้ามใช้หรือไม่ให้มีการตกค้างของสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในเนื้อสัตว์ที่ใช้ในการบริโภคโดยเด็ดขาด
ขณะที่ในประเทศไทยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีและเกลือของสารกลุ่มดังกล่าว
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ก็ยังห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ผสมในอาหารสัตว์ทุกชนิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 เนื่องจากหากใช้เกินขนาดจะทำให้สัตว์อยู่ในสภาพถูกทรมานและส่งผลต่อผู้บริโภคได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาราคาเนื้อหมูที่พุ่งสูงมาอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าในระยะเร่งด่วนอาจมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเนื้อหมูมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและยังมีราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนั้น
สอบ. มองว่าหากจะนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากต่างประเทศ จะ ‘ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน’ และสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น เพื่อป้องกันอันตรายและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (อ่าน สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ 5 ทางแก้ ‘หมูแพง’ ต่อที่ : https://bit.ly/3FQUO9u)
ที่มา :
https://bit.ly/3IwSPJw
https://bit.ly/3KzhBu0
https://bit.ly/3Ik17nI
https://bit.ly/3Ip3dCN
https://bit.ly/3tMLUHL
https://bit.ly/3FOM4kf
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค #หมูแพง #แพงทั้งแผ่นดิน #ค่าแรงขั้นต่ำ #คุณภาพชีวิต