สภาผู้บริโภค หารือกับ TPDPA ร่วมผลักดันการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทุกส่วน พร้อมส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักในสิทธิของตนเอง เดินหน้าจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคและสมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย (Thai Personal Data Protection Auditors and Consultants Association : TPDPA) หารือประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลทราบถึงสิทธิของตนเองและสามารถใช้สิทธิได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งจะร่วมกันผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องและตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลผู้บริโภค นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสภาผู้บริโภคและ TPDPA เช่น การสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค การจัดทำคู่มือการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
นายอุดมธิปก ไพรเกษตร นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและให้คำปรึกษาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไทย กล่าวว่า TPDPA เป็นสมาคมที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและสนับสนุนการทำงานด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
จากผลการปฏิบัติศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC Eagle Eye) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) พบว่า ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 – 12 มกราคม 2567 มีการแจ้งข้อมูลรั่วไหลจำนวน 5,273 เรื่อง และถูกแก้ไขแล้วจำนวน 5,261 เรื่อง ขณะที่การร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการตคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ตั้งแต่ปี 2564- 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวน 432 เรื่อง และแนวโน้มการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น เฉพาะปี 2567 เดือน ม.ค. มีจำนวน 103 เรื่อง และ เดือน ก.พ. จำนวน 117 เรื่อง
จากข้อมูลข้างต้น นายอุดมธิปก เปิดเผยว่า ผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อมูลรั่วไหลมากกว่าที่ผลการรายงาน และการร้องเรียน ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ทราบสิทธิของตนเองหรือไม่มีข้อมูลมากพอจึงทำให้ไม่ได้ร้องเรียนไปที่ สคส. นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับองค์กรที่ได้อบรมพนักงานเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แต่อาจให้ข้อมูลกับพนักงานไม่มากพอ และเมื่อเกิดปัญหาพนักงานเหล่านั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและองค์กรต่าง ๆ รับทราบและปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง TPDPA ได้มีการวางแผนจัดทำคู่มือให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้ทราบถึงสิทธิที่ต้องได้รับและวิธีการร้องเรียนเมื่อพบปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ที่องค์กรทำข้อมูลผู้บริโภครั่วไหล ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ออกมาเรียกร้องให้องค์กรนั้นเตือนให้เจ้าของข้อมูลรับทราบเพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และได้เสนอให้ภาครัฐให้ความรู้ รวมถึงออกแบบระบบเพื่อป้องกันความเสียหาย อีกทั้งสภาผู้บริโภคอยู่ระหว่างการปรับแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยการเพิ่มเติมสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากประเด็นหารือข้างต้น สภาผู้บริโภคได้นำเสนอประเด็นเพิ่มเติม คือ การคุ้มครองผู้บริโภคเริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ต้องจริงจังและให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งแต่เก็บ ประมวลผล ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค เท่าที่จำเป็นโดยมีกฎหมายรองรับ มีมาตรการรองรับการใช้สิทธิของผู้บริโภคในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีมาตรการประเมินผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีมาตรการการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและการเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในการปฏิบัติงาน
“ปัญหาข้อมูลรั่วไหลจากค่ายโทรศัพท์มือถือหรือหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคพบกับปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ ข้อความเอสเอ็มเอสกวนใจ หรือหากเป็นข้อมูลจากธนาคารจะพบกับบริษัทประกันต่าง ๆ โทรมารบกวน หรือแม้แต่บริการสุขภาพอย่างโรงพยาบาล ผู้บริโภคจะเจอกับกลลวงชวนตรวจสุขภาพฟรี เมื่อไปตรวจจะอ้างโรคร้ายต่าง ๆ และเสนอขายคอร์สราคาสูง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคได้รับร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความคิดว่าจะต้องมีการให้คะแนนผู้ประกอบการแต่ละคนเพื่อให้ตระหนักความสำคัญของข้อมูลและการคุ้มครองผู้บริโภค” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าว
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยินดีให้ความร่วมมือกับสมาคมคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และในส่วนจัดกิจกรรมอบรมที่กล่าวไปข้างต้น สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการเริ่มจากฝึกอบรมองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคก่อนเพื่อเป็นตัวแทนช่วยสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคต่อไป