เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภคร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค อาทิเช่น ผู้แทนสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค คณะกรรมการนโยบาย คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานชุดต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งขึ้น ผู้แทนองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาควิชาการ (สถาบันการศึกษา) สื่อมวลชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลสำรวจมาใช้ประกอบการวางแผน ปรับปรุงการทำงาน และพัฒนาให้สอดคล้องกับความหวังและความพึงพอใจทุกกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสังคมผู้บริโภคที่เข้มแข็งต่อไป
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงผลการดำเนินงาน ในปี 2567 และความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคอาทิเช่น การช่วยเหลือด้านคดีที่สภาผู้บริโภคฟ้องร้องแทนและคดีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการ ผลักดันมาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน” ผลักดันกฎหมายบำนาญแห่งชาติ และการร่วมกับองค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม สะท้อนปัญหาการหลอกลวงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ได้ขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั่วไทย
เลขาธิการฯ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างดีจากหน่วยงานรัฐหลาย ๆ แห่ง แต่ข้อเสนอของสภาผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เสนอไปยังหน่วยงานรัฐยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เนื่องด้วยปัญหาของผู้บริโภคมีความซับซ้อน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่การถูกหลอกหรือถูกโกงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ปัญหาผู้บริโภคเป็นปัญหาสำคัญที่แม้สภาผู้บริโภคจะมีคนที่รับรู้หรือเห็นข้อมูลที่เผยแพร่ออกไป แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิ”
ด้านบัญชา ผิวอ่อน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอให้มีการสื่อสาร และอธิบายกับผู้ที่มาร้องเรียนให้มีความเข้าใจ หลังจากได้มาร้องเรียนแล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร พร้อมเสนอแนวทางการดำเนินงานร่วมกับสภาผู้บริโภค
ขณะที่นันณภัชสรณ์ เตชปัญญาพิพัฒน์ ทนายความสภาผู้บริโภค สะท้อนปัญหาเรื่องการดำเนินคดีที่ปัญหาผู้บริโภคมีความหลากหลาย และการทำให้สังคมรับรู้และรู้จัก สภาผู้บริโภค การทำหน้าที่เหมือนและแตกต่างจาก สคบ. อย่างไร โดยเฉพาะควรมีการประชาสัมพันธ์สภาผู้บริโภคให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกับบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ด้านตัวแทนสื่อมวลชน ให้ข้อคิดเห็นว่า สภาผู้บริโภคควรจะมีการประชาสัมพันธ์องค์กรให้รู้จักมากขึ้น และชี้แจงบทบาท ภารกิจให้ชัดเจน มีสื่อประชาสัมพันธ์ ให้หน่วยงานเครือข่ายซึ่งเป็นศูนย์กลางนำไปสื่อสารในแต่ละพื้นที่
สำหรับการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก จากแผนที่กำหนดไว้จะรับฟังความคิดเห็นอีก 7 ครั้งทั่วภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มาตรา 15 ระบุว่าให้สภาผู้บริโภค รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันจะยังประโยชน์แก่การคุ้มครองผู้บริโภค และการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค