สภาผู้บริโภค ตบเท้ายื่นประธานสภาฯ เสนอตัวริเริ่มแก้กม.3 ฉบับ – ยกร่างใหม่ เลมอน ลอว์

สภาผู้บริโภคเดินหน้าเสนอแก้กฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคไทย ให้เท่าทันปัญหาปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฏหมายเลมอน ลอว์ พร้อมยื่นข้อเสนอผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ให้เท่าทันโลกอนาคต

วันนี้ 15 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค นำโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ โดยมีนายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมารับมอบหนังสือ

ทั้งนี้ นายชัยรัตน์ แสงอรุณ เป็นผู้แทนผู้บริโภค ยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ….นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการอาหารและยา และผอ.มูลนิธิชีววิถี เป็นผู้แทนยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ และนางชูเนตร ศรีเสาวชาติ เป็นผู้แทนคณะทำงานยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) อีกทั้ง ได้มีการยื่นแก้ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ไปก่อนหน้านี้โดยมี มีตัวแทนคณะทำงานด้านการศึกษา ได้เข้ายื่นข้อคิดเห็นต่อ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาธิการ

นางสาวสารี กล่าวว่า จากปัญหาผู้บริโภคที่สภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน ทำให้ต้องยื่นเสนอร่างกฎหมาย เนื่องจาก พบว่า ยังมีสิทธิผู้บริโภคที่ยังไม่เทียบเท่าสากล โดยเฉพาะ ปัญหาการซื้อสินค้าด้อยคุณภาพ ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้า และการบริโภคอาหารที่ยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ จึงเป็นที่มาที่ทำให้สภาฯ ต้องมาเสนอร่างกฎหมายในวันนี้ โดยเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อาหารฯ และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ไปพร้อมๆ กับการเสนอกฎหมายใหม่อีก 1 ฉบับ  คือ พ.ร.บ.ชำรุดบกพร่องฯ เพื่อทำให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้น

อีกทั้ง การแก้ไขกฎหมาย และร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ถือเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ฉะนั้น ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน มาเข้าชื่อเสนอกฎหมายหลังจากนี้ โดยสามารถติดตามการมีส่วนร่วมของประชาชนได้จากเว็บไซต์สภาผู้บริโภค และเพจของสภาผู้บริโภค

ด้าน นายชัยรัตน์ แสงอรุณ กล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ว่า เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันปัญหาผู้บริโภคก้าวหน้าไปไกล ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบในด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาตามยุคสมัย จึงต้องมีการเพิ่มสิทธิผู้บริโภค 5 ประการ เพื่อรองรับสิทธิผู้บริโภคให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

ขณะที่ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เผยว่า พ.ร.บ.อาหาร ถูกบังคับใช้มานานถึง 45 ปี แต่ปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคในปัจจุบันนั้น กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ตามไม่ทัน มีช่องวางในการป้องกันความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำนิยามที่ไม่ครอบคลุม การไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงมีการเพิ่ม 5 ข้อเสนอ อาทิ เพิ่มนิยามที่ต้องครอบคลุมอาหารเกิดใหม่ เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการ เพิ่มหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารให้รับผิดชอบต่อผู้บริโภค ตลอดจนแก้ไขบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

สำหรับกฎหมายใหม่เลมอน ลอว์ นั้น ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิทุกวัน ผู้บริโภคต้องมาทะเลาะกับผู้ประกอบธุรกิจ เพราะบ้านเรายังไม่มีกฎ กติกา จึงเป็นที่มาการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้มีกติกากลางให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจได้พูดจาภาษาเดียวกัน  ใช้หลักของกฎหมายเข้ามาประกอบ ทั้งสิทธิเลือกเปลี่ยน คืน หรือซ่อมสินค้า และขยายการรับประกัน สิทธิในการยึดหน่วยการชำระราคา สิทธิลดราคา สิทธิเลิกสัญญา เป็นต้น


ขณะที่ การยื่นแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ นำโดย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการฯ นางรัชนี ธงไชย คณะทำงานด้านการศึกษา นายสมชาย คุ้มพูล คณะทำงานด้านการศึกษาและ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล คณะทำงานด้านการศึกษา โดย สภาผู้บริโภคได้รวบรวมความเห็นจากเวที “ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ทั้งนักวิชาการด้านการศึกษา นักการเมือง ตัวแทนเยาวชน นักศึกษา  โดยมีข้อคิดเห็นให้เพิ่มเติมใน 4 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นเรื่องการเรียนฟรี ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา การให้พื้นที่การมีส่วนร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  และการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลาง

นอกจากนี้ ยังมีข้อคิดเห็นให้ปรับปรุงใน 6 มาตรา ได้แก่ มาตรา 8 ,10 ,15 ,35 ,57 และ 88 ซึ่งมีข้อเสนอโดยสรุปดังนี้ ด้านผู้เรียน เสนอให้ทบทวนและพิจารณา โดยระบุรายละเอียดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย รวมทั้งขอให้มีการปรับช่วงวัย ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ด้านผู้สอน เสนอให้มีระบบในการผลิตและพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครูทุกคนมีสมรรถนะด้านพัฒนาการเด็กอย่างรอบด้าน รวมถึงขอให้รัฐจัดให้มีนักจิตวิทยา พัฒนาการเด็กหรือผู้ให้คำปรึกษาในระดับพื้นที่

สำหรับด้านหลักสูตร เสนอให้รัฐจัดให้มีการประเมินผลหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงกับการประเมินระดับสติปัญญาของผู้เรียน (IQ) และการประเมินสมรรถนะที่สอดคล้องกับการประเมินผลระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเสนอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและนักวิชาชีพเป็นสำคัญ โดยเสนอให้ลดจำนวนกรรมการในสัดส่วนของปลัดกระทรวง และให้เพิ่มกรรมการในสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิทยาพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กและเยาวชน ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับด้านการศึกษา และตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย

ทั้งนี้ นายโสภณ ซารัมย์ เผยว่า ข้อเสนอแนะที่สภาผู้บริโภคได้นำมายื่น มีความเห็นตรงกันในเรื่องพัฒนาเด็กไทยให้ทัดเทียมสากล และเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการศึกษาธิการ ยินดีรับเรื่องและจะนำประเด็นที่มีประโยชน์ไปพัฒนาปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาฯต่อไป