สภาผู้บริโภค สานพลังร่วมกับ อย. ผลักดันระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด หวังขยายครบทั่วพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วไทย ด้านประธานสภาผู้บริโภคชี้ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ จะช่วยจัดการปัญหาและแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที ผู้บริโภคมีข้อมูลป้องกันตัวเองจากอาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อันตราย
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศเจตนารมณ์ในการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อผลักดันระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนในด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาไม่ปลอดภัย การโฆษณาชวนเชื่อ การเฝ้าระวังเรื่องฉลากอาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานในชุมชน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยจะมีการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสตูล ผ่านคณะทำงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ อย. สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ได้กล่าวชื่นชมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชนที่เป็นหมุดหมายสำคัญในเฝ้าระวังและจัดการกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายและได้ให้ความเห็นไว้ว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรืออาหารไม่ปลอดภัยนั้นเกิดขึ้นและมีอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก หากมีแต่ อย. ตรวจสอบเพียงหน่วยงานเดียวอาจไม่ครอบคลุมและทั่วถึงได้ในทุกพื้นที่ แต่องค์กรภาคประชาชนนั้นมีสมาชิกอยู่ในทุกพื้นที่ ซึ่งการสร้างช่วยกันเฝ้าระวังและตรวจสอบจะครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่า และหากมีการพัฒนาความร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สามารถแจ้งเตือนภัยอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน และ อย. จะเป็นประโยชน์ เพราะทำให้ผู้บริโภคลดความเสี่ยงจากอันตรายและได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวเสริมอีกว่า ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงาน อีกทั้งควรมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่พบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ช่วยแจ้งเบาะแสของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าสภาผู้บริโภคจะไม่มีอำนาจรัฐในมือที่จะเอาผิดผู้ที่ทำผิดกฎหมายได้ แต่เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ สภาผู้บริโภคมีอำนาจเป็นตัวแทนของผู้บริโภค สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายและยังสามารถแจ้งชื่อผู้ประกอบการ ชื่อร้านค้า หรือชื่อผลิตภัณฑ์อันตรายเพื่อเตือนภัยผู้ยริโภคได้ ดังนั้น หาก อย. หรือเครือข่ายที่ทำงานไม่สามารถประกาศชื่อผลิตภัณฑ์ได้ สามารถแจ้งข้อมูลมายังสภาผู้บริโภคเพื่อช่วยเตือนภัยต่อไป
“ชีวิตของผู้บริโภคไทยขึ้นอยู่กับ อย. เพราะหาก อย. เตือนภัยช้าหรือตรวจสอบล่าช้า อาจทำให้มีผู้บริโภคอีกหลายชีวิตที่หลงทานผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยเข้าไป และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ทั้งนี้ควรมีผู้รับผิดชอบและมีกฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่หรือผู้ประกอบการที่ละเลยหน้าที่ อีกทั้งต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบมากกว่า อย. เพราะหน่วยงานที่ให้อนุญาตผลิตหรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและยานั้นมาจากหลายหน่วยงาน ดังนั้น ควรต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย” ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า อย. พร้อมเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอนุญาตอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ที่ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัย และให้คำมั่นสัญญาว่าหลังจากนี้ อย. พร้อมเป็นที่พึ่งกับผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมเป็นที่พึ่งให้ประชาชนทุกรูปแบบ
การร่วมบูรณาการพัฒนาแผนการดำเนินงานเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน ระหว่างสภาผู้บริโภค และ อย. ครั้งนี้นั้นจะช่วยระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในการร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้มาตรฐานได้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้ อย. จะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมจนเกิดการเฝ้าระวังทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีความมั่นใจว่าการสร้างความร่วมที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดความยั่งยืนในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค และ อย. ได้มีการหารือเพื่อขยายความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคพบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย อาหารนำเข้าจากต่างประเทศแต่ไม่มีการติดฉลากภาษาไทย หรือการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจนส่งผลให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ซื้อไปรับประทานและทำให้ได้รับผลกระทบขึ้น กระทั่งจนมีการจัดทำแผนเฝ้าระวังและเตือนภัยร่วมกันระหว่าง อย. และเครือข่ายภาคประชาชนขึ้นเมื่อวันที่ 22 – 23 มกราคม 67 ดังกล่าวขึ้น
ส่วน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค มีความเห็นว่า หลังการประชุมสร้างความร่วมมือการผลักดันระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนนั้นทำให้ได้รูปแบบแผนผังเส้นทางในการทำงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะเป็นแผนผังเส้นทางที่เกิดจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และผู้บริโภคมาช่วยระดมสมองเพื่อออกแบบระบบการทำงาน และยังเป็นการสะท้อนปัญหาที่ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่พบเจอ
“สภาผู้บริโภคมองในประเด็นของปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภค เพื่อรีบแจ้งเตือนภัย เราไม่มองว่าต้องรอพิสูจน์ก่อนแล้วจึงเตือน แต่เรามองว่าจะต้องเตือนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังเห็นว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้เปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากหลายหน่วยงานที่ช่วยเสนอปัญหาที่เจอในพื้นที่ทุกวันและวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเป็นการแสดงความร่วมมือในมิติใหม่ที่จะได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคประชาชนที่พร้อมขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน” ภก.ภาณุโชติ กล่าวเสริม
ด้าน มลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค เปิดเผยถึงการจัดอบรมเมื่อวันที่ 22 และ 23 มกราคมที่ผ่านมาว่า ในการอบรมสร้างความร่วมมือผลักดันระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะทำงานเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้ง 7 จังหวัดได้มีการระดมแนวคิดเพื่อร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงานการเฝ้าระวังในพื้นที่ 7 จังหวัดและจัดทำแผนการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่เพื่อเลือกประเด็นที่แต่ละจังหวัดต้องการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง รวมถึงการวางระยะเวลาและเป้าหมายในการดำเนินการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดได้จัดทำแผนการดำเนินงานการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน ดังนี้
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่พบปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยในชุมชน มีฉลากไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังได้มีการวางแผนทำโครงการให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันผลิตภัณฑ์อันตรายตำบลนำร่องจังหวัดเชียงใหม่ และจะมีการออกแบบพื้นที่ต้นแบบในการจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในระดับจังหวัด
ด้านจังหวัดนครสวรรค์ มีประเด็นปัญหาที่พบ คือ สารตกค้างในพืชผักผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดค้าส่งในจังหวัดนครสวรรค์ มีการวางแผนตั้งคณะทำงานตรวจสอบสารตกค้างในผักผลไม้ โดยมีเป้าหมายในการตรวจสารตกค้างนำร่องในผัก 5 ชนิดที่มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงอยู่ในระดับปลอดภัย คือ ตรวจพบยาฆ่าแมลงไม่เกินร้อยละ 20
ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบปัญหาการจำหน่ายยาอันตรายในร้านขายของชำ โดยมีรูปแบบการเฝ้าระวัง มีการลงพื้นที่และรับแจ้งเบาะแสจากผู้บริโภค ซึ่งในระหว่างรอผลทดสอบจะมีการแจ้งเตือนภัยให้ผู้บริโภคทราบเบื้องต้นก่อนเพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงไม่บริโภคได้ รวมถึงการคัดกรองผลเบื้องต้นก่อนส่งข้อมูลให้หน่วยงานอื่นเพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน ทั้งนี้ มีเป้าหมายร้านขายของชำในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต้องปลอดยาอันตรายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ในระยะเวลา 6 เดือนแรกที่เริ่มดำเนินการ
ในจังหวัดมหาสารคาม ได้เลือกประเด็นการที่ร้านจำหน่ายของชำในชุมชนมักมีการจำหน่ายยาอย่างผิดกฎหมาย และประเด็นการพบสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารเร่งเนื้อแดง การใส่ฟอร์มาลีนหรือสารเคมีทางการเกษตรลงไปในอาหารเพื่อให้ดูน่ารับประทานและยังคงสดใหม่น่าเลือกซื้อ ขณะที่คณะทำงานฯ ในจังหวัดมหาสารคามได้วางเป้าหมายออกมาจำนวน 2 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ร้านขายของชำไม่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย และ 2. อาหารปลอดภัยในชุมชนต้องปลอดสารเคมี
ส่วนจังหวัดยโสธรนั้นพบประเด็นการใส่สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะการใส่ในเนื้อวัว และปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยที่คณะทำงานฯ ในจังหวัดยโสธรได้วางเป้าหมาย ดังนี้ 1. ร้านจำหน่ายเนื้อวัว ผู้เลี้ยงวัว และระบบตลาดเนื้อวัวจะต้องปลอดสารเร่งเนื้อแดง โดยจะผลักดันให้มีระบบฐานข้อมูลร้านจำหน่ายเนื้อวัว จำนวนผู้เลี้ยงวัวและตลาดเนื้อวัวปลอดสารเร่งเนื้อแดง และ 2. มีการจัดการยาสเตียรอยด์ให้หมดไปจากในชุมชน
จังหวัดร้อยเอ็ดนั้นได้เลือกให้ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัยในร้านจำหน่ายของชำในชุมชน ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้อง และปัญหาการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผู้บริโภคที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่ และได้มีการวางเป้าหมายในการจัดการปัญหาได้แก่ 1. ร้านจำหน่ายของชำในชุมชนต้องไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย 2. จัดการการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในจังหวัด และ 3. มีการตรวจพบหรือรายงานผล แจ้งเตือนภัยจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ
และจังหวัดสตูลเน้นไปที่การจัดการกับร้านค้าในชุมชนที่จำหน่ายจำหน่ายอาหารหมดอายุ นอกจากนี้ยังพบอาหารในชุมชนไม่มีวันผลิตและวันหมดอายุ ดังนั้นจึงได้วางเป้าหมายที่จะจัดการกับร้านค้าในชุมชุนที่ไม่ขายอาหารหมดอายุ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในตำบลนำร่องสามารถจัดการกับสินค้าหมดอายุและจัดการกับฉลากให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ จากการคัดเลือกประเด็นปัญหาที่ต้องการจัดการและแก้ไข รวมถึงการวางแผนเป้าหมายเพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพ ในแต่ละจังหวัดจึงได้ออกแบบและจัดทำระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยร่วมกัน (ตามรูปข้างต้น) โดยสรุปสามารถการแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
1. การเฝ้าระวัง จากการสำรวจหรือการสังเกตด้วยตัวเอง และหากพบว่าเป็นปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย หรือพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หน่วยงานในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ผู้นำชุมชน เครือข่ายชุมชน ส่วนท้องถิ่น สามารถส่งต่อให้หน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคได้ทันทีเพื่อให้สภาผู้บริโภคแจ้งเตือนภัยในเบื้องต้น โดยที่สภาผู้บริโภคสามารถแจ้งเตือนภัยและสามารถเปิดเผยชื่อสินค้าหรือชื่อของผู้ประกอบการที่จำหน่ายหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายได้ หรือหน่วยงานในแต่ละพื้นที่สามารถส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้รับทราบปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยหรือการพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานเบื้องต้นก่อน รวมทั้งสามารถส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจสอบตามขั้นตอนได้ในอีกทาง
2. การจัดการปัญหา เมื่อ สสจ. รับทราบถึงปัญหา สามารถดำเนินดคีกับผู้ประกอบการได้ทันทีหากพบว่าผลิตภัณฑ์หรืออาหารเหล่านั้นไม่ได้มาตรฐานหรือเป็นอันตรายกับผู้บริโภค แต่หากจะต้องมีการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปทดสอบ จะถูกส่งไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อดำเนินการต่อ และหากพบว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภคจะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการต่อไป รวมทั้งหากเป็นกรณีที่เกิดอันตรายกับผู้บริโภคจะส่งต่อให้กับหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภคส่วนกลางเพื่อให้ผู้ประกอบการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้ผู้บริโภค
3. การแจ้งเตือนภัย เมื่อ สสจ. และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องคืนข้อมูลจากการดำเนินคดีหรือผลการทดสอบกลับมาเพื่อให้กับท้องถิ่น หน่วยงานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ผลิตสื่อเผยแพร่และแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ รวมถึงการส่งข้อมูลให้กับสื่อมวลชนช่วยกระจายข้อมูลให้กับผู้บริโภครับรู้และรับทราบผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงข้อมูลได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น