สภาผู้บริโภคเดินหน้าเต็บสูบ รวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย 3 ฉบับเข้าสภา

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไฟเขียวให้สภาผู้บริโภค เชิญชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายเลมอน ลอว์ แก้ไขพระราชบัญญัติอาหาร แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค

หลังจากเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค นำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … 2. พระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … 3. ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) โดยมี ธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนาษฎร และ คัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมารับมอบหนังสือนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพันธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือผลการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 3 ฉบับ ว่า มีหลักการเป็นไปตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีรูปแบบตลอดจนสาระสำคัญ เป็นไปตามรูปแบบการเสนอร่างกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงพิจารณา ให้สภาผู้บริโภค ดำเนินการเชิญชวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนอื่นให้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ให้ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2564

ด้าน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคจะเร่งประชาสัมพันธ์ สาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ และให้องค์กรสมาชิก สภาผู้บริโภคจำนวน 328 องค์กร ใน 48 จังหวัดทั่วประเทศช่วยเผยแพร่สาระสำคัญและรวบรวมรายชื่ออีกทาง ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน มาเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ผ่านทางเว็บไซต์สภาผู้บริโภค ที่ลิงก์ : https://www.tcc.or.th/sign-law/

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา (คนซ้าย)

สำหรับสาระสำคัญของการปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิผู้บริโภคไทยที่ไม่ทัดเทียมกับสากล ให้มีการรับรองสิทธิผู้บริโภคที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงสิทธิผู้บริโภคอื่น ๆ ที่ควรถูกระบุไว้ อาทิ สิทธิในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนตัว สิทธิในการรวมตัวของผู้บริโภค เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและตอกย้ำว่าสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิผู้บริโภคพึงมีและพึงได้รับ และการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร เพื่อทำให้อาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค และตามทันโฆษณา โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ และบทลงโทษ

ส่วนการผลักดันกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยกฎหมายฉบับนี้ นิยามผู้ซื้อสินค้าทุกคนจะได้รับความคุ้มครอง ไม่เพียงแค่รถยนต์ แต่รวมถึงสินค้าทั่วไป โดยหากพบความชำรุดบกพร่องสามารถใช้สิทธิ์ได้ 5 กรณี ขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอเลิกสัญญา และขอปฏิเสธชำระค่างวดผ่อนสินค้า ขณะเดียวกัน จะทำให้ผู้ขายหรือผู้ประกอบการ เปลี่ยน หรือรับคืนสินค้าชำรุดให้กับผู้บริโภค โดยไม่มีข้อโต้แย้ง