สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) ระบุ สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และ โควิด 19 ทำเซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์สำคัญที่ติดในรถจักรยานยนต์ขาดแคลน จึงขอเลื่อนติดอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถจักรยานยนต์ รุ่นต่ำกว่า 125 ซีซี ขณะที่ TAIA ชี้แจง ถึงปี 2567 แต่ละค่ายรถจักรยานยนต์จะมีรถที่ติดระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอส กว่า 1 ล้านคันพร้อมสำหรับจำหน่าย ด้านสภาผู้บริโภค ระบุ TAIA มีรถจักรยานยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยครบถ้วน จำนวนมากพอที่จะเดินหน้าตามประกาศฯ กรมการขนส่งทางบกได้ พร้อมหนุน TAIA เรื่อง การเลือกซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่มีระบบความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (THE THAI AUTOMOTIVE INDUSTRY ASSOCIATION : TAIA) เข้าพบสภาผู้บริโภค เพื่อหารือในกรณีที่มีการออกประกาศให้มีการติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (ระบบเบรกแบบซีบีเอส : CBS) สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) ซึ่งเป็นไปตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขอให้เลื่อนกำหนดการบังคับใช้รถจักรยานยนต์บางส่วนออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2569
ทั้งนี้ สุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ชี้แจงถึงสาเหตุการขอเลื่อนการติดตั้งระบบห้ามล้อร่วมข้างต้นว่า สาเหตุเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์สำคัญหลักคือ ชิป (Chip) หรือที่เรียกว่า เซมิ-คอนดักเตอร์ (Semi – Conductor) ที่เป็นอุปกรณ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเบรกเอบีเอสหรือซีบีเอส ซึ่งเป็นการขาดแคลนในหลายประเทศที่เป็นผลมาจากเหตุสงคราม รัสเซีย – ยูเครน และโรคระบาดของโควิด – 19 ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อทำให้ขาดแคลนแรงงานในการผลิตชิปดังกล่าว
ปัจจุบัน สุวัชร์กล่าว อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์มีการผลิตและพร้อมจัดจำหน่ายอยู่ในไทยเกือบ 2 ล้านคัน โดยเมื่อถึงกำหนดการบังคับใช้ตามเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะมีรถจักรยานยนต์ที่มีการติดตั้งระบบเบรกที่มีความปลอดภัยและพร้อมสำหรับการจัดจำหน่ายจำนวน 1,517,016 ล้านคัน ขณะที่รถจักรยานยนต์อีกจำนวน 275,000 คันที่พัฒนาไม่ทัน เนื่องจากรถจักรยานยนต์ที่เหลือยังเป็นรถที่ใช้ระบบเบรกแบบเกียร์ธรรมดา (Manual Transmission : MT) และการที่จะเปลี่ยนมาเป็นระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอสนั้นจำเป็นต้องใช้ชิป เซมิคอนดักเตอร์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์นี้ ซึ่งสวนทางกับความต้องการที่มากขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น การผลิตเครื่องเกมคอนโซล สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์
ดังนั้น ในการหารือแนวทางการบังคับใช้ประกาศฯ ของกรมการขนส่งทางบก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงได้ขอเลื่อนการบังคับติดตั้งระบบเบรกแบบซีบีเอส สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) เฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถพัฒนาได้ทัน ออกไปเป็นการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จะมีรถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น ระบบเบรกแบบซีบีเอส และระบบเบรกแบบเอบีเอส ถูกติดตั้งในรถจักรยานยนต์ได้ครบทั้งหมด
นอกจากนี้ เพื่อรองรับกับรถจักรยานยนต์ที่จะถูกติดตั้งระบบเบรกเอบีเอสหรือซีบีเอสทั้งหมดในอนาคต สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีแผนการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเบรกในระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอส เพื่อให้ผู้ขับขี่มีทักษะในการเบรกได้อย่างถูกต้องและทำให้การขับขี่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงจะขยายผลไปถึงโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอีกด้วย อีกทั้งจะมีการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ร่วมกับสภาผู้บริโภคในการสื่อสารข้อมูล เผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ของการใช้ระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอสร่วมด้วย
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่หารือร่วมกัน พบว่า ขณะนี้จนถึงปี 2567 แต่ละค่ายรถจักรยานยนต์มีรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) และเป็นรถที่ติดตั้งระบบเบรกแบบซีบีเอสหรือเอบีเอส ถึงจำนวนหลักล้านคันที่พร้อมสำหรับจัดจำหน่าย
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่าสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีรถจักรยานยนต์ที่มีความปลอดภัยครบถ้วนจำนวนมากพอสำหรับจัดจำหน่ายและมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามประกาศฯ ของกรมขนส่งทางบกได้ตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 1 มกราคม 2567
ส่วนรถจักรยานยนต์ที่พัฒนาไม่ทันอีกกว่าสองแสนคันนั้น สภาผู้บริโภคขอให้สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่จะได้ใช้ระบบเบรกที่มีประสิทธิภาพ มีทางเลือกในการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ที่มีความปลอดภัยครบถ้วน และช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการขับขี่ได้ รวมถึงการช่วยลดอุบัติเหตุให้ลดลงได้อีกด้วย ขณะที่สภาผู้บริโภคจะสนับสนุนแผนการอบรมระบบเบรกเอบีเอสหรือซีบีเอสของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีการวางแผนอบรมและให้ความรู้ผู้บริโภค
ทั้งนี้ ระบบเบรกแบบเอบีเอสได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปกป้องชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ โดยในคณะทำงานที่ 29 ว่าด้วยการประสานข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ (the World Forum for Harmonization of Vehicle Regulations Working Party – WP.29) ได้กำหนดให้ระบบเบรกแบบเอบีเอสเป็น 1 ใน 8 มาตรการหลักที่ยานพาหนะทั้งหมดควรมี อีกทั้งในกฎเรื่องยานพาหนะขององค์การสหประชาชาติ (the UN Vehicles Regulation) ได้แนะนำให้ใช้ข้อกำหนดที่มีอยู่ในเรื่องระบบเบรกแบบเอบีเอสกับยานพาหนะทั้งหมดด้วย
นอกจากนี้ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้เน้นถึงความสำคัญในการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่จักร์ยานยนต์ว่า ปัจจุบันการโฆษณาขายรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มักไม่มีหมวกกันน็อกที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยอยู่ในภาพโฆษณา ตัวอย่างเช่น มีเพียงแค่ตัวรถจักรยานยนต์กับคนที่โฆษณา หรือมีคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ในโฆษณาสองคน แต่คนที่ใส่หมวกกันน็อกมีเพียงคนเดียวคือคนที่ขับรถ ดังนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่าสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควรควบคุมการผลิตโฆษณาและต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยคนที่ขับขี่และคนที่นั่งซ้อนท้ายจะต้องสวมหมวกกันน็อกทุกคน ทุกครั้งเพื่อให้ผู้บริโภคที่รับชมโฆษณาเกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยไปพร้อมกัน
ท้ายสุดนี้ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้ฝากให้สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพิจารณาและนำผลการทดสอบ ‘หมวกกันน็อก 25 ตัวอย่าง’ ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบเลือกหมวกกันน็อกที่จะแถมร่วมเมื่อผู้บริโภคซื้อรถจักรยานยนต์ โดยข้อมูลการทดสอบข้างต้นเป็นความร่วมมือระหว่างสภาผู้บริโภคและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค : MTEC) โดยพบว่าไม่ผ่านมาตรฐานถึง 11 ตัวอย่าง และหมวกกันน็อกเด็ก 5 ตัวอย่างตกมาตรฐานทั้งหมด ซึ่งหลังจากเผยแพร่ผลทดสอบในครั้งนั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขานรับข้อเสนอที่จะตรวจสอบหมวกกันน็อกรุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานอีกครั้งหนึ่ง และจะเร่งนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากท้องตลาดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค