“ถ้าเราอยากให้อนาคตเป็นอย่างไร เรามีส่วนร่วมกันทำให้เป็นดังที่เราอยากให้เป็นได้” แลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ
ความสำเร็จของการคุ้มครองผู้บริโภค จนนำไปสู่ “การบริโภคที่ยั่งยืน” ในอนาคต จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ตลอดจนประชาชนทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และพัฒนาการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดนโยบายเพื่อการคุ้มคลองผู้บริโภคทุกด้าน ทั้ง 8 ด้าน
(ด้านสินค้าและบริการทั่วไป, ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ, ด้านการเงินและการธนาคาร, ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม, ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุุขภาพ, ด้านการขนส่่งและยานพาหนะ, ด้านอสังหาริม ทรัพย์ และที่อยู่อาศัย, และด้านบริการสุุขภาพ) สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางสังคม และส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล
ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก และหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร) จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 มีการระดมความเห็น ร่วมกำหนดทิศทางและข้อเสนอในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ และสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมไปถึงหารือแนวทางความร่วมมือภาครัฐกับองค์กรผู้บริโภคเพื่อสนับสนุนการจัดการข้อร้องเรียนและพัฒนาข้อเสนอแนะนโยบาย จากกรณีศึกษาของหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านการดำเนินงานจัดการเรื่องร้องเรียน
เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ด้วยการกล่าวต้อนรับของประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค บุญยืน ศิริธรรม “พี่บุญยืน” ของน้อง ๆ เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคภาคตะวันตก นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และนายกสมาคมสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก ซึ่งเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตกของสภาองค์กรของผู้บริโภค ตามด้วยเพลงพื้นเมืองที่มีความหมายต่อคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค “ฉ่อยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค” โดย เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม และเครือข่ายเยาวชนดนตรีวิถีคนแม่กลอง
จากนั้น หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก นำเสนอแนวคิดและผลการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคใน 8 จังหวัดภาคตะวันตก “บทเรียนสำคัญในการทำงานคุ้มครองสิทธิและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ” และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ทั้ง 5 ภาค ประกอบด้วย หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ รวมถึงเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่หน่วยงานประจำจังหวัด 13 จังหวัด เจ้าหน้าที่หน่วยงานเขตพื้นที่ทั้ง 5 ภาค ตลอดจนเจ้าหน้าที่สภาองค์กรของผู้บริโภค
หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ผลักดันและขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค และดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนทุกพื้นที่ในจังหวัดและภูมิภาค เช่น การผลักดัน พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพปี 2545 ร่วมกับ สปสช. มีความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่ และถูกกำหนดให้เป็น องค์กรภาคประชาสังคมที่สามารถพัฒนาให้เป็นองค์กรคุณภาพในการดำเนินงานนโยบายสาธารณะ การรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ย และการฟ้องคดี
เมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในปี พ.ศ. 2564 หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ก็ได้ทำความร่วมมือกับ สอบ. ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนในจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ รวมถึงศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสมาคมสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ต่อมาเกิดสภาผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีโครงสร้างประกอบด้วย ประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ กองเลขานุการ สัดส่วนผู้กรรมการผู้เชี่ยวชาญ 8 ด้าน โดยสภาผู้บริโภคจังหวัด มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และให้ความเห็นชอบในการพิจารณาฟ้องคดี
รวมถึงเป็นกลไกความร่วมร่วมมือระหว่างองค์กรกับภาครัฐในพื้นที่ มีบทบาทหน้าที่ในการให้คำแนะนำ เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายลงไปสู่จังหวัดในภาคตะวันตก จนกลายเป็นกลไกในขับเคลื่อนงานคุ้มคลองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับ องค์กรภาครัฐในพื้นที่ จากกรณีตัวอย่างบ้านทรุด โดยการรับเรื่องจากผู้ร้องที่เป็นผู้ซื้อบ้าน จากโครงการ Good House หัวหิน ว่าบ้านไม่ได้มาตรฐาน ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ได้ส่งต่อให้กับหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อดำเนินการต่อ
เมื่อหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าโครงการบ้านจัดสรรดังกล่าว มีปัญหาเรื่องโฆษณาเกินจริง การซื้อขายที่ไม่แจ้งรายละเอียดให้ครบถ้วน การดำเนินโครงการเข้าข่ายเลี่ยง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน ผู้รับเหมาทำงานไม่ได้มาตรฐานและทิ้งงาน รวมถึงเรื่องปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย การดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดำเนินการภายใต้โครงสร้างสภาผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีบทบาทสร้างและขยายการมีส่วนร่วมไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันตก
บทเรียนจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ถ้าเราอยากให้อนาคตเป็นอย่างไร เรามีส่วนร่วมกันทำให้เป็นดังที่เราอยากให้เป็นได้” มาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภคไทยว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ควรส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ยังประโยชน์ให้กับผู้คน สังคม และประเทศชาติต่อไป