‘ผู้ประกอบการคอนโดศุภาลัย’ ไม่มีสิทธิริบเงินจองที่ไม่ใช่มัดจำ เงินดาวน์ หลังผู้บริโภคกู้แบงก์ไม่ผ่าน

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุ ‘ศุภาลัย’ ไม่มีสิทธิริบเงินจองที่ไม่ใช่เงินมัดจำ หรือเงินดาวน์ หลังผู้บริโภคกู้สินเชื่อไม่ผ่าน พร้อมเสนอ สคบ. ออกมาตรการคุมสัญญาจองห้องชุด บ้านจัดสรรให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

4 พฤศจิกายน 2564 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) สอบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่จองซื้อห้องชุดในโครงการ ศุภาลัย ริวา แกรนด์ ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงได้วางเงินจอง เงินมัดจำ และเงินดาวน์ไปแล้ว จำนวน 28 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 473,200 บาท

แต่เมื่อถึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์กลับไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เนื่องจากธุรกิจนำเที่ยวและร้านนวดของผู้บริโภครายดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้นไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน อีกทั้งโครงการยังยืนยันที่จะริบเงินทั้งหมดของผู้บริโภครายนี้ด้วย

อิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โควิด-19 นั้นส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงยังส่งผลกระทบกับธุรกิจของผู้บริโภครายนี้ด้วย ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค และการที่สถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อจึงไม่สามารถโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

“ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 ระบุว่า เงินที่ผู้ประกอบการมีสิทธิริบ คือ เงินมัดจำที่ให้ไว้ในขณะทำสัญญาเท่านั้น เนื่องจากถือเป็นเบี้ยปรับ แต่เงินส่วนอื่น ๆ เช่น เงินจองที่ไม่ได้ชำระวันทำสัญญา เงินดาวน์ ก็จะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทั้งหมด อีกทั้งบริษัทศุภาลัยฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ประกอบธุรกิจมาอย่างยาวนาน จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจและองค์กรได้” รองเลขาธิการ สอบ. กล่าว

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ทั้งนี้ สอบ. มีฐานะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้น สอบ. ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการเปิดเผยชื่อ รายงานการกระทำที่กระทบสิทธิผู้บริโภค และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ รวมถึงจะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

นอกจากนี้ รองเลขาธิการ สอบ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อาทิ ห้องชุด หรือบ้านจัดสรรไม่สามารถริบเงินจองและเงินดาวน์ห้องชุดของลูกค้าที่กู้เงินไม่ผ่านได้

และเมื่อ 30 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา สคบ. ลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง สคบ. กับตัวแทนสมาคมอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ในเนื้อหาระบุว่า โครงการห้ามยึดเงินดาวน์ หรือเงินจองคอนโดมิเนียม หากลูกค้ากู้ซื้อคอนโดฯ ไม่ผ่าน ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่มีผู้บริโภคถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อในการซื้อที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น

สอบ. จึงขอเสนอแนะให้ สคบ. ออกมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อควบคุมสัญญาจองห้องชุดหรือบ้านจัดสรร และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

ผู้บริโภคที่ถูกยึดเงินทั้งหมดจากการกู้ซื้อคอนโดฯ ไม่ผ่าน หรือพบปัญหาผู้บริโภคอื่น ๆ สามารถร้องเรียนปัญหาผู้บริโภค ได้ที่ ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สอบ.