สุโขทัยพร้อม! หนุนเกิดองค์กรสมาชิกผู้บริโภคในพื้นที่

สภาผู้บริโภค เดินหน้าผลักดันให้เกิดองค์กรสมาชิกครอบคลุมทุกจังหวัด ลงพื้นที่สุโขทัย หลังพบสถิติเรื่องร้องเรียน นำโด่ง แอปฯ เงินกู้คิดดอกเบี้ยโหด รองลงมา ซื้อสินค้าออนไลน์ – ไม่จ่ายสินไหมตามตามสัญญากรมธรรม์ ด้านจ.สุโขทัย พร้อมสนับสนุนเกิดองค์กรของผู้บริโภค เชื่อจะพิทักษ์ – คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อยู่หมัด

หลังจากในช่วงที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคเดินหน้าลงพื้นที่ในหลายจังหวัดที่ยังไม่มีองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคเพื่อสร้างความเข้าใจการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมผลักดันให้เกิดองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคในระดับพื้นที่ช่วยเหลือการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค จัดงาน “สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนผู้บริโภคจังหวัดสุโขทัย” ทำความเข้าใจการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค พัฒนาความร่วมมือองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในจังหวัดสุโขทัย เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่

ในการนำเสนอสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากุล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคว่า จากการเก็บข้อมูลวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 กรกฎาคม 2567 มีผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ร้องเรียนมาจำนวน 36 เรื่อง ส่วนใหญ่มักพบปัญหาการถูกคิดดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนดจากแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ ปัญหาประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมตามเงื่อนไขกรมธรรม์ รวมถึงปัญหาที่อย่างปัญหาจากการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาในปัจจุบัน

สุภาพร กล่าวว่า ขณะนี้สภาผู้บริโภคกำลังเดินหน้าเพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคอยู่จำนวนทั้งหมด 328 องค์กร ใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ยังไม่มีองค์กรสมาชิกในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ดังนั้น จึงได้ขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสุโขทัย เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทั่วถึง องค์กรของผู้บริโภคสามารถทำงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคได้อย่างเข้มแข็ง และผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงผลงานและความท้าทายในการทำงานเพื่อผู้บริโภคว่า แม้สภาผู้บริโภคจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากและช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการเยียวยา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคยังมีมูลค่ามหาศาลมากกว่านี้ อาทิ ปัญหาการฉ้อโกงในช่วง 1 มีนาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2567 มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 65,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ การหลอกลงทุน หรือการใช้ความเดือดร้อนของผู้บริโภคมาหลอกลวงอย่างการหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้รับเงิน

ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ร่วมมือและเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น การนำเสนอมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction) ในยอดเงินโอนสูงเกิน 1 หมื่นบาท เพื่อให้ธนาคารชะลอการโอนเงินออนไลน์ไว้เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคมีเวลาตรวจสอบเพื่อป้องกันเหตุมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อไปเข้าบัญชีม้าได้ทันที และให้ธนาคารมีเวลาในการตรวจเช็กบัญชีเหล่านั้นว่าเข้าข่ายมิจฉาชีพหรือไม่ และมาตรการอื่น ๆ หรือการเสนอเสนอแก้กฎหมาย 2 ฉบับ และการผลักดันให้เกิดร่างความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือกฎหมายเลมอน์ ลอว์ (Lemon Law) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคไทยให้เท่าทันปัญหาปัจจุบัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อจำกัดในการผลักดันข้อเสนอนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค กรณีนี้สภาผู้บริโภคมองว่าทุกภาคส่วนมีหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเช่นเดียวกันกับสิ่งที่สภาผู้บริโภคกำลังดำเนินการ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจะร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน พรรคการเมือง ในการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งการผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งและยั่งยืนผ่านแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทุน แต่เป็นการสนับสนุนให้ทุนเกิดการแข่งขัน เมื่อผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น คนที่ได้รับประโยชน์คือผู้บริโภคและทุน

ด้าน สรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า ในปัจจุบันจังหวัดสุโขทัย มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดในพื้นที่ ที่ทำงานเฝ้าระวังเชิงรุก ออกตรวจการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และกำหนดให้ผู้ประกอบการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับฉลากให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการหลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่ โดยมีสถานที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค อยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกหนึ่งหน่วยงาน คือ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ที่มุ่งมั่นพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะการควบคุมกำกับการผลิตและจำหน่ายสินค้า อาหาร ยา และบริการสุขภาพ อย่างมืออาชีพ

“เชื่อว่าการมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหลายหน่วยงาน จะทำให้เกิดการประสานงาน การบูรณาการความร่วมมือ ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยังทำให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และหากสภาผู้บริโภคมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่สุโขทัย จังหวัดพร้อมสนับสนุนและร่วมดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าว

ปิดท้ายที่ บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคยังปรากฏให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการถูกเอาเปรียบจากราคาหรือคุณภาพของสินค้า – บริการ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การถูกหลอกขายสินค้าที่มีอันตราย หรือเผชิญกับภัยคุกคามทางเทคโนโลยี ซึ่งปัญหาผู้บริโภคมีความซับซ้อนขึ้นและถือเป็นความท้าทายสำคัญในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะที่การเกิดขึ้นของสภาผู้บริโภคถือเป็นกลไกหนึ่งในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค โดยการกำหนดให้สภาผู้บริโภคมีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้านและมีฐานะเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย รวมถึงการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ

ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคขึ้นและยืนหยัดเป็นที่พึ่งให้ผู้บริโภคได้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคทั้งจังหวัดที่จะต้องร่วมมือกัน ซึ่งนอกจากการเป็นที่พึ่งให้ผู้บริโภคแล้วนั้น องค์กรของผู้บริโภคนี้จะเป็นปากเสียงในการเจรจาและผลักดันนโยบาย รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริโภคและองค์กรรัฐ เอกชนต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค

บุญยืน ให้ความเห็นอีกว่า การคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการทำนโยบายที่ชัดเจนและโปร่งใส โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายที่สนับสนุนและคุ้มครองผู้บริโภคที่เกิดการบังคับใช้ได้จริง ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการจนทำให้ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม

“องค์กรผู้บริโภคต้องเป็นกลไกทำงานเชิงรุก เป็นปากเสียงที่แข็งแกร่งให้ผู้บริโภคในทุก ๆ ประเด็น เป็นพลังที่ต่อกรกับความอยุติธรรม และช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนพลังของผู้บริโภคในสุโขทัยให้ก้าวไปข้างหน้า เกิดความเปลี่ยนแปลง และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง” ประธานสภาผู้บริโภค กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีช่วง SSS : Sukhothai Sound Sphere “พื้นที่สะท้อนปัญหาชาวสุโขทัย จุดอ่อน จุดแข็ง : แนวทางการพัฒนาเพี่อการคุ้มครองผู้บริโภค” และการเสวนา ประเด็น ปัญหาผู้บริโภคในจังหวัดสุโขทัย และการมีส่วนร่วม รัฐ ประชาชน และการแก้ไข ที่จะมีวิทยากรจากภาครัฐ ภาคประชน และพรรคการเมืองร่วมสะท้อนปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้ปัญหาผู้บริโภคได้รับการแก้ไข