จี้ซับเวย์รับผิดชอบผู้บริโภค ปล่อยขายสินค้า แม้หมดสัญญาแฟรนไชส์

สภาผู้บริโภคจี้ซับเวย์ต้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหากับผู้บริโภค กรณีปล่อยให้สาขาหมดสัญญาใช้ชื่อแบรนด์ต่อ ชี้ละเลยไม่ดำเนินการร้านหมดสัญญา – ไม่นำออกจากแอปฯ

จากกรณีที่ผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนถึงคุณภาพสินค้าของร้านแซนด์วิชซับเวย์ (Subway) ในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำ กระดาษห่อที่ขาดสัญลักษณ์ของแบรนด์ชัดเจน และขนมปังที่ไม่เป็นไปตามสูตร มีกระแสวิจารณ์ตามมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก Subway Thailand ได้โพสต์ชี้แจงว่า จะเร่งดำเนินการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ควบคู่กับการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อลดความสับสนในกลุ่มผู้บริโภคระหว่างร้านซับเวย์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง กับร้านซับเวย์ที่สิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์นั้น (อ้างอิง :: https://www.facebook.com/share/p/1ChyAupp6t/ )

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า กรณีที่ซับเวย์ออกมาชี้แจ้งว่ามีสาขาใดบ้างที่หมดสัญญาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม แต่ไม่เร่งดำเนินการจัดการในขณะนั้นและยังปล่อยให้มีการซื้อขายเกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่มีการแจ้งไปที่แอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์เพื่อให้นำร้านค้าที่หมดสัญญาเหล่านี้ออกจากระบบ ทำให้เกิดปัญหาที่ผู้บริโภคบางรายหลงซื้อสินค้าจากร้านค้าที่หมดสัญญาร่วมหลายเดือน ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่าการที่ซับเวย์ปล่อยปละละเลยและหากมีปัญหาเกิดกับผู้บริโภค ซับเวย์ต้องร่วมรับผิดชอบร่วมด้วย เนื่องจากผู้บริโภคซื้ออาหารเพราะเชื่อว่าเป็นสินค้าของซับเวย์

สภาผู้บริโภคในฐานะผู้แทนของผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้บริษัท โกลัค จำกัด (”Go Luck”) ในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการให้และเปิดแฟรนไชน์แต่เพียงผู้เดียว เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันความสับสนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งการกระทำนี้เป็นการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้แจ้งการยกเลิกแฟรนไชส์ให้ผู้บริโภครับทราบอย่างชัดเจนตั้งแต่ที่ทราบข้อมูล จึงทำให้ผู้บริโภคยังเข้าใจผิดว่าร้านเหล่านี้เป็นแฟรนไชส์ของซับเวย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องสังเกตเลขหน้าร้านหรือเครื่องหมายตราสัญลักษณ์เพื่อป้องกันการถูกหลอก ทั้งที่หลายครั้งการตรวจสอบเหล่านี้ทำได้ยาก เช่น ในกรณีสั่งซื้อผ่านบริการดิลิเวอรี  

“ซับเวย์รู้ว่าร้านไหนหมดสัญญาแต่ผู้บริโภคไม่รู้ การที่ซับเวย์ไม่ประกาศชื่อร้านค้าตั้งแต่วันที่เลิกสัญญาก็เป็นส่วนหนึ่งที่คุณต้องรับผิดต่อผู้บริโภค เพราะคุณละเลยที่จะแจ้งเตือนภัยแก่ผู้บริโภค และต้องไปดำเนินคดีอาญากับสาขาที่หมดสัญญาแล้วแต่ยังแอบอ้างชื่ออยู่ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่การที่ซับเวย์ไม่ดำเนินการ แสดงว่าคุณไม่ได้ใส่ใจต่อความเสียหายที่จะเกิดกับผู้บริโภค” โสภณกล่าว

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบปัญหาจากการซื้อสินค้าในชื่อซับเวย์และได้รับสินค้าไม่เป็นไปตามคุณภาพที่เคยบริโภค หรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหาร แนะนำให้รวบรวมหลักฐาน รูปถ่ายและวีดีโอสินค้าไว้เป็นหลักฐาน หากมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน และหากได้รับความเสียหายจากการบริโภคควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน และสามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค โทรศัพท์ 1502 หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th

“ไม่อยากให้ผู้บริโภคมองว่าราคาอาหารไม่สูงมากและอาจไม่มีแรงจูงใจในการใช้สิทธิ แต่ถ้าเกิดมีคนที่เกิดความเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าเช่นนี้สักพันคน ก็เป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาลที่มากเลยทีเดียว” หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองฯ สภาผู้บริโภคทิ้งท้าย