สภาผู้บริโภค เรียกร้องกระทรวงการคลัง ตรวจสอบ – แก้ไขปัญหาปมกองทุน กยศ. ไม่ปรับยอดหนี้ใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำผู้บริโภคหลายรายชำระหนี้โดยไม่ทราบยอดหนี้ที่แท้จริง แนะยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ฯ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม
จากเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภคในประเด็นที่มีผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่กองทุน กยศ. ไม่ได้ดำเนินการหรือมีการดำเนินการด้วยความล่าช้าในการปรับยอดหนี้ใหม่ให้กับลูกหนี้ กยศ. ตามที่ พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กำหนด จนทำให้ลูกหนี้หลายรายยังต้องชำระหนี้โดยที่ไม่ทราบถึงยอดหนี้ที่แท้จริง บางรายต้องชำระหนี้โดยที่หนี้นั้นอาจหมดไปแล้วเมื่อคำนวนยอดหนี้ตามที่กฎหมายใหม่กำหนด หรือบางรายต้องแจ้งขอปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้ในชั้นศาลโดยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของยอดหนี้ที่แท้จริงนั้น
เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกู้ยืมเงินของกองทุน กยศ. ให้ได้รับความเป็นธรรมในการชำระหนี้ นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุน กยศ. ตรวจสอบกรณีข้างต้นและเร่งรัดให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมาย ยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงเร่งรัดให้มีการปรับยอดหนี้ใหม่แก่ลูกหนี้ กยศ. และดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กำหนด เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. จำนวน 3,501,600 ราย ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระหนี้ได้รับทราบยอดหนี้ที่แท้จริงและเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภค
“กองทุน กยศ. ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษา เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ปัจจุบันกองทุนกลับออกประกาศที่ขัดกฎหมายและทำให้ผู้บริโภคหรือลูกหนี้ กยศ. หลายรายต้องชำระหนี้อย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งผู้บริโภคยังไม่ทราบถึงยอดหนี้ที่แท้จริง ทั้งที่ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ว่าผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูล ข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อใช้การตัดสินใจ” นายจิณณะ กล่าว
ในช่วงที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคพบว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งมีการแก้ไขและเพิ่มเติมจากกฎหมายฉบับเดิม ในมาตรา 44 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ รวมถึงมาตรการผ่อนผันและบรรเทาภาระของผู้กู้ยืม รวมถึงในมาตรา 44/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ซึ่งกฎหมายส่วนที่แก้ไขและมีผลบังคับใช้แล้วดังกล่าวข้างต้นเป็นประโยชน์และเป็นผลดีแก่ผู้กู้ยืมเงิน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องรีบเร่งดำเนินการตามที่กำหนดทันทีที่กฎหมายถูกบังคับใช้ ส่วนในมาตรา 29 วรรคแรกยังกำหนดไว้ว่า “… ในการออกข้อบังคับ ถ้าเป็นคุณต่อผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกัน คณะกรรมการต้องกำหนดให้มีผลใช้บังคับกับผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงินหรือได้ค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย แม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วหรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี…”
อย่างไรก็ตาม กองทุน กยศ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง การปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่กำหนดให้กองทุนปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายใหม่ โดยนำเงินไปตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนดก่อนเป็นลำดับแรก ที่เหลือให้ไปตัดชำระดอกเบี้ยหรืออื่น ๆ ตามลำดับ ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี เท่านั้น
ในวันเดียวกันนั้น กยศ. ได้ออกประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งข้อ 2 ของประกาศฉบับนี้กำหนดว่า “ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป” แต่ในข้อ 21 ของประกาศปรับโครงสร้างหนี้ฯ ฉบับดังกล่าวกำหนดว่า “ในระหว่างที่กองทุนยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบงานของกองทุนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ไม่แล้วเสร็จ กองทุนจะใช้ยอดหนี้ที่ปรากฏหน้าระบบงานของกองทุนเป็นยอดหนี้ชั่วคราวในการปรับโครงสร้างหนี้และทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไปก่อน เมื่อกองทุนพัฒนาระบบงานเสร็จสิ้นแล้วกองทุนจะนำยอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาคำนวณยอดหนี้ใหม่ และปรับเปลี่ยนยอดหนี้ ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงปรับเปลี่ยนยอดหนี้คงเหลือของผู้กู้ยืมเงินให้ถูกต้องต่อไป” ซึ่งขัดต่อมาตรา 29 วรรคแรกของประกาศปรับยอดหนี้ฯ มาตรา 44 และมาตรา 44/1 ของพ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงข้อกฎหมายข้างต้นประกอบกันจะพบว่า การที่กองทุน กยศ. ไม่ปรับยอดหนี้ใหม่ให้กับผู้กู้ของ กยศ. นั้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือเป็นการดำเนินงานที่ล่าช้า เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี 3 เดือน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ อีกทั้งการออกประกาศหลักเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ฯ ข้อ 21 มีลักษณะที่ขัดต่อ พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 อาจส่งผลให้ประกาศหลักเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ฯ ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย รวมถึงอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐในมาตรา 53 ว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” และมาตรา 61 “รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้”
หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. หรือพบปัญหาในการชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนหรือขอคำแนะนำมาได้ที่สภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th