สภาผู้บริโภค เรียกร้องรัฐออกเกณฑ์บังคับ เปิดเผยต้นทุนน้ำมัน สร้างระบบตลาดเสรี แก้เหตุ “ค่าการตลาดน้ำมัน” เกินกำหนด
จากกรณีปัญหาพบผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง 3 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศ และส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จึงได้เปิดแถลงการณ์เรื่อง ‘ค่าการตลาดน้ำมันพุ่ง เรียกร้องรัฐบาลเก่า – ใหม่ ตรวจสอบตลาดน้ำมันในประเทศดูแลผู้ใช้น้ำมัน’ ขึ้นเพื่อเรียกร้องรัฐบาลเก่าและใหม่ให้สนใจปากท้องประชาชน ดูแลการปรับราคาค่าน้ำมันให้เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมัน
โดย บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องของสภาผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลรักษาการณ์และรัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งในอนาคตอันใกล้ต้องให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน โดยเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1. เกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ภาครัฐประกาศ รัฐบาลต้องกำหนดเป็นมาตรการบังคับ 2. ให้รัฐตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุดสองลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้างหรือไม่ และ 3. ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไร้การควบคุมว่าก่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันรายเล็กจริงหรือไม่
นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังจะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่า ไม่ควรมีการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลจากที่เก็บอยู่ 1.34 บาทต่อลิตรในขณะนี้ เพราะผู้ใช้น้ำมันดีเซลยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 5.43 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค.2566) เพื่อลดภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ 69,427 ล้านบาท การขึ้นภาษีจะเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
ในส่วนของการเก็บภาษีน้ำมัน รัฐบาลควรคำนึงว่า น้ำมันดีเซลคือเชื้อเพลิงหลักของภาคขนส่งในขณะที่ระบบการขนส่งทางรางของประเทศยังไม่สมบูรณ์ หากเก็บภาษีสูงเกินไปจะทำให้ราคาดีเซลสูงขึ้นอาจทำให้ความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศด้อยลงได้ อีกทั้งการผสมไบโอดีเซล การเก็บภาษีและการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในปัจจุบันที่รวมแล้วเกือบ 7 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน
ทำให้ราคาดีเซลของไทยที่ 32 บาทต่อลิตรในขณะนี้ เป็นราคาที่สูงกว่าประเทศมาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และแม้กระทั่งประเทศกัมพูชาที่นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ในช่วงที่ราคาดีเซลในตลาดโลกปรับลดลง รัฐบาลจึงควรหาแนวทางเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้กลับไปอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรจึงจะเหมาะสมกว่า
“สภาผู้บริโภคเห็นว่าการที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ไม่ปรับราคาตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือ เป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของค่าเชื้อเพลิง รัฐขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ไม่สอดคล้องกับทิศทางโลกที่ลดลง ทำให้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซินต้องเสียแพงกว่า” ประธานสภาผู้บริโภค ระบุ
ขณะที่ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันเป็นแบบลอยตัว ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เป็นคนควบคุมราคา ทำให้การปรับเปลี่ยนราคาอยู่ภายใต้การพิจารณาของผู้ประกอบการ แม้โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศจะมีเรื่องของต้นทุนเนื้อน้ำมัน, ภาษี ,กองทุน ,ค่าการตลาด แต่จะเจาะจงไปที่ค่าการตลาดน้ำมัน เพราะเป็นส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
นอกจากนี้ จากการที่สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธาน กบง. ได้กล่าวถึงการกำหนดค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ระหว่าง เดือนมีนาคม 2563 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีเนื้อความว่า
“ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 กบง. เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยที่ 2.00 บาทต่อลิตร ให้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 95 E10 อยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ให้น้ำมันดีเซล B7 อยู่ที่ 1.65 บาทต่อลิตร
ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 กบง. เห็นชอบให้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และได้เห็นชอบขยายระยะเวลาการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปอีก 6 ครั้ง ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2566
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 กบง. เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม โดยปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร
ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเพิ่มค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลขึ้น 0.40 บาทต่อลิตร จากเดิมขอความร่วมมือไว้อยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ปรับเป็น 1.80 บาทต่อลิตร อ้างว่าเพื่อให้ค่าการตลาดทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันอยู่ในกรอบ 2.00 บาทต่อลิตร” นั้น
สรุปได้ว่า ค่าการตลาดน้ำมันที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร แต่ค่าการตลาดแก๊สโซฮอลล์ 95 เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2566 = 3.29 บาท/ลิตร ค่าการตลาดดีเซล เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2566 = 1.79 บาท/ลิตร ทั้งสองมีราคาที่สูงกว่าค่าการตลาดเฉลี่ยที่ กบง. ขอความร่วมมือ
“ทุกวันนี้ค่าน้ำมันมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา แต่ส่วนต่างค่าเฉลี่ยที่ กบง. ขอความร่วมมือควรมาลดหย่อนให้ประชาชน” อิฐบูรณ์ ระบุ
ทั้งนี้ อิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มเบนซินมียอดขายอยู่ที่ 30 ล้านลิตร ดีเซลมียอดขายอยู่ที่ 74.6 ล้านลิตร รวมระยะเวลา 5 เดือน มีค่าใช้จ่ายของผู้ใช้น้ำมันที่ต้องจ่ายกับค่าการตลาดที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มเบนซิน 193 ล้านบาท กลุ่มดีเซล 100 ล้านบาท ผลที่เกิดขึ้นจากเงินส่วนต่างของค่าการตลาดลอยตัว ส่งผลให้ราคาขายปลีกมีราคาสูงกว่าเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง (อ้างอิง 29 พฤษภาคม 2566) ในขณะที่ตลาดโลกราคาลดลง แต่ประชาชนที่ใช้ในกลุ่มเบนซินไม่ได้ลดราคาเลย
ด้าน รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากค่าการตลาดที่ กบง. ได้มีไว้ตั้งแต่ปี 2563 ในช่วงโควิด รัฐบาลปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าการตลาดสูงมาก ตลาดค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยที่มีสถานีบริการราว 28,000 แห่ง มีกลุ่มที่ถือส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด คือ ปตท. อยู่ที่ร้อยละ 40 บางจาก อยู่ที่ร้อยละ 10 และในอนาคตบางจากอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 รายใหญ่รวมกันเป็นร้อยละ 60 จึงเกิดข้อสงสัยว่ามีการแข่งขันจริงหรือไม่ และ ปตท. ที่ถือหุ้นใหญ่สุดต้องเป็นผู้ที่ควบคุมราคาการตลาดไม่ให้เกินกับที่ กบง. ขอความร่วมมือ
“ควรลดการเอาเปรียบและขูดรีดประชาชนจากเอกชน และดีเซลนั่นเป็นน้ำมันที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค เมื่อกำหนดสูงเกินไปก็จะกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ถ้ารัฐบาลตั้งใจในการคุมราคาการตลาดน้ำมัน คาดว่าจะสามารถควบคุมได้แน่นอน” รสนา กล่าว