สภาผู้บริโภค ส่งข้อเสนอเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจาก ‘หุ้นกู้สตาร์ค (STARK)’ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การลงทุน รวมถึงการจ้างงาน พร้อมขอให้เร่งตรวจสอบ ธ.กสิกรไทยและบริษัทในเครือ หลังปล่อยให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนผ่านแอปฯ K My invest ได้ ทั้งที่หุ้นกู้สตาร์คกำหนดให้ซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น เสนอเพิ่มผู้แทนผู้บริโภคในตลาดทุน เพื่อให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งการแสดงความเห็นและการเสนอแนะข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
จากกรณีที่สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกรณีการถือ “หุ้นกู้สตาร์ค” (STARK) ของบริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายไม่โปร่งใส ทั้งสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ การส่งงบการเงินไม่ทันกำหนด ปัญหาการทุจริตภายในองค์กร ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งห้ามซื้อขายหุ้นดังกล่าว และภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รับคดีหุ้นกู้สตาร์คเป็นคดีพิเศษ พร้อมออกหมายจับอดีตกรรมการบ ริหารของบริษัท สตาร์ค หลังพบว่ามีการตกแต่งบัญชีและได้รับผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคและผู้เสียหายที่ถือหุ้นกู้สตาร์ค เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น
จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ระบุว่าเพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภค สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอแนะและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์โดยให้ ก.ล.ต. กำหนดมาตรการการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม (Backdoor Listing) ให้รัดกุมขึ้น และการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อมจะต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์การเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน (Initial Public Offering : IPO)
อีกทั้งขอให้ตรวจสอบธนาคารกสิกรไทยและบริษัทในเครือ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้สินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยผู้ขายหุ้นกู้สตาร์ค และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าวให้กับผู้ลงทุนรายย่อยผ่านทางแอปพลิเคชัน K My invest ทั้งที่หุ้นกู้สตาร์คกำหนดให้ซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น และหากพบการกระทำความผิดขอให้ลงโทษทันที
“กลุ่มผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เลือกเข้ามาลงทุนในกองทุนหรือตราสารหนี้เหล่านี้เป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพารายได้หลังเกษียณ ที่มีความรู้สึกว่าการลงทุนในลักษณะนี้ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินโดยทั่วไป จึงได้นำเงินมาลงทุนเพื่อยังชีพในยามเกษียณ อีกทั้งนักลงทุนรายย่อยหลายรายได้เข้าไปลงทุนผ่านแอปฯ ของธนาคารกสิกรไทย ทั้งที่หุ้นกู้สตาร์คกำหนดให้ซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น จึงเกิดข้อสงสัยว่าเห็นว่าระบบธนาคารมีความหละหลวม ไม่สามารถคัดกรองคุณสมบัติของผู้ซื้อได้ จนปัจจุบันทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมากขนาดนี้” จิณณะ ระบุ
อนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ระบุอีกว่า สภาผู้บริโภคต้องการ ก.ล.ต. บังคับใช้กฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์อย่างเข้มงวดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไข หลักเกณฑ์ ควบคุมองค์กรที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ได้แก่ บริษัทหรือสถาบันที่ทำหน้าที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ให้มีความรัดกุมสมกับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ โดยต้องมีมาตรการที่ระบุหน้าที่ของผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือในการประเมินหรือการจัดอันดับที่มากกว่าเกณฑ์ประกาศกำหนดในปัจจุบัน และควรต้องมีการระบุรายการการตรวจสอบก่อนการประเมิน (Checklist) รวมถึงควรต้องสัมภาษณ์หรือตรวจสอบคู่ค้าหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการประเมินหรือการจัดอันดับ
นอกจากนี้ยังอาจมีการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเรียกร้องได้ด้วยตนเองเมื่อเกิดกรณีผิดนัดชำระแล้ว โดยไม่ต้องรอการดำเนินการของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคไม่ถูกจำกัดสิทธิและมีทางเลือกในการดำเนินการเพื่อสิทธิผู้บริโภคของตัวเอง อีกทั้ง ก.ล.ต. ควรจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้เสียหายกรณีหุ้นกู้สตาร์ค
เนื่องจากสภาผู้บริโภคเห็นว่าความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นความรู้เฉพาะทาง หากพนักงานสอบสวนมีความรู้ไม่เพียงพอเกี่ยวกับเรื่องเฉพาะทางข้างต้นอาจทำให้คดีมีความล่าช้าและอาจส่งผลเสียต่อรูปคดีได้ รวมถึงการเสนอให้ ก.ล.ต. จัดตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาความเสียหายกับผู้เสียหายกรณีผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทุจริต โดยพิจารณาในการนำรายได้จากผู้ประกอบการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกขายหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่น ๆ มาใช้เป็นเงินทุนในการจัดสรรเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย
อนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ระบุทิ้งท้ายว่า ก.ล.ต. ควรมีการเพิ่มกลไกคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดทุน โดยเพิ่มตัวแทนผู้บริโภคในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่งคือเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ตัวแทนผู้บริโภคมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย กฎเกณฑ์ ประกาศ ข้อบังคับใด ๆ รวมถึงการกำหนดสัญญาหรือข้อกำหนดสิทธิต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้กับผู้ถือหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่น ๆ ในการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังพบว่ากฎหมายต่าง ๆ ยังไม่มีการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่าการซื้อหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ที่มีดอกเบี้ยคงที่อย่างหุ้นกู้สตาร์คถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่ได้มีการเก็งกำไร ซึ่งอยู่ในขอบข่ายความเสียหายของผู้บริโภค จึงสรุปว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ที่ส่งผลกระทบเป็น วงกว้างและอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงอาจส่งผลกระทบไปถึงการจ้างงานหากการระดมเงินทุนในลักษณะดังกล่าวล้มเหลวและขาดความเชื่อมั่นจากบริษัทต่าง ๆ จนกระทั่งต้องปิดกิจการในเวลาต่อมา โดยสภาผู้บริโภคคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในตลาดทุน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนและจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น และจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคตามภารกิจของสภาผู้บริโภคด้วยอีกส่วนหนึ่ง